สูดดมควันบุหรี่เสี่ยงอายุสั้น 7-10 ปี
"โรคมะเร็งปอด" ถือเป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในโลกและในประเทศไทย โดยตัวการสำคัญอันดับหนึ่งของโรคนี้ก็หนีไม่พ้นการสูบบุหรี่ ซึ่งคนส่วนใหญ่แม้จะรู้โทษภัยของการสูบบุหรี่ว่าเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด ในประเทศไทยก็ยังมีแนวโน้มของการสูบบุหรี่ขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่จัด 1 ซองต่อวัน หรือผู้ที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปมากๆ จะเสี่ยงมีอายุสั้นกว่าคนปกติถึง 7-10 ปี อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ แทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ศ.เกียรติคุณ น.พ.สว่าง แสงหิรัญวัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์โรคปอด โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดนั้นสามารถพบได้ทั้งชายและหญิง ไม่ว่าจะสูบบุหรี่หรือไม่สูบก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยว่า มีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดที่ไม่ได้สูบบุหรี่ และไม่มีประวัติคนในครอบครัวสูบบุหรี่อยู่ด้วย ซึ่งอาจจะได้รับควันบุหรี่จากการเดินผ่าน ซึ่งถือเป็นนักสูบมือ 3 นั่นเอง โดยผู้ป่วยมะเร็งปอดประมาณร้อยละ 85-90 จะมีประวัติสูบบุหรี่ ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยจะไม่มีประวัติการสูบบุหรี่เลยโดยเฉพาะที่พบในผู้หญิง การสูบบุหรี่ 1 ซองต่อวัน 30 ปีจะเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็ง 20-60 เท่าในผู้ชาย และ 14-20 เท่าในผู้หญิง การสูดควันบุหรี่จากบุคคลใกล้ชิดที่สูบก็เพิ่มความเสี่ยง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณที่สูดเข้าไป โอกาสเสี่ยงต่อมะเร็งปอดจะลดลงหลังจากการหยุดบุหรี่ การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า โอกาสเกิดโรคมะเร็งหลังจากหยุดบุหรี่ 5 ปี จะสูงกว่ากลุ่มไม่สูบบุหรี่ 16 เท่า หลังจากนั้นจะลดลงเหลือ 8 เท่าใน 5 ปีต่อมา และลดลงเหลือ 2 เท่าหลังหยุด 30 ปี ในอดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดจะมาพบแพทย์ในระยะสุดท้ายของตัวโรค ซึ่งเป็นช่วงแสดงอาการจากการที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ อาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มะเร็งลุกลามไป หากมะเร็งกระจายไปที่สมอง ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉพาะที่ อาการชัก สับสน เดินเซ มองภาพไม่ชัดหรือเห็นภาพซ้อน เป็นต้น "มีผู้ป่วยน้อยรายที่จะมาพบแพทย์ในช่วงระยะเริ่มแรกของโรค เพราะโรคมะเร็งปอดระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใดๆ เลย อาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือจากการทำเอกซเรย์ทรวงอกเนื่องจากอาการของโรคอื่น ก้อนมะเร็งที่ยังมีขนาดเล็กอาจไม่กดเบียดส่วนที่สำคัญจึงไม่ปรากฏอาการจนกว่าก้อนจะมีขนาดใหญ่"
ผู้อำนวยการศูนย์โรคปอด กล่าวว่า หากเป็นมะเร็งในระยะที่ 1-2 ถือเป็นระยะเริ่มแรก การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี ถ้าผู้ป่วยได้รับการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ก้อนมีขนาดเล็ก ไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่น ในผู้ป่วยที่มีสุขภาพพื้นฐานดี ระยะฟื้นตัวหลังผ่าตัดไม่แตกต่างจากการผ่าตัดปอดที่มีสาเหตุมาจากโรคอื่น
รศ.นพ.ประเสริฐ เลิศสงวนสินชัย แพทย์รังสีรักษา โรงพยาบาลวัฒโนสถ เสริมว่า การรักษามะเร็งปอดปัจจุบันมีการรักษาหลักคือ การผ่าตัด, การฉายรังสี, การใช้เคมีบำบัดและ/หรือยามุ่งเป้า (targeted therapy), การรักษาแบบประคับประคองอาการ การจะเลือกใช้วิธีการรักษาใดนั้นขึ้นกับระยะของโรค สภาพร่างกาย และปัญหาทางอายุรกรรมของผู้ป่วย ส่วนใหญ่การรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดมักจะต้องใช้การรักษาแบบผสมผสานร่วมกันหลายวิธี เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด และผู้ป่วยสามารถอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในที่นี้จะกล่าวถึงการใช้รังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็งปอด ว่ามีข้อบ่งชี้และความ
ก้าวหน้าพัฒนาการด้านรังสีรักษา การรักษามะเร็งปอดระยะที่
1 และระยะที่ 2 การรักษาหลักคือการผ่าตัด แต่
สำหรับในผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีภาวะไม่เหมาะ
สมต่อการทำผ่าตัดจะเลือกใช้การรักษาด้วยรังสี
รักษา มะเร็งปอดในระยะที่ 3 ถ้าสามารถ
ผ่าตัดได้จะใช้การผ่าตัด และตามด้วยการให้เคมีบำบัด และ/หรือร่วมกับการฉายรังสี สำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้จะใช้วิธีการรักษาด้วยการฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด มะเร็งปอดระยะที่ 4 คือ ระยะที่มีโรคแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นแล้ว การรักษาหลักคือ การใช้เคมีบำบัด หรือยามุ่งเป้าร่วมกับการรักษาแบบประคับประคอง รังสีรักษาจะมีบทบาทช่วยบรรเทาอาการทุกข์ทรมาน เช่น อาการปวดจากมะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูก เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น เทคนิคการฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็งปอด แต่เดิมการฉายรังสีมะเร็งปอดใช้วิธีการฉายรังสีแบบ 2 มิติ ซึ่งแม้ว่าจะสามารถควบคุมโรคได้ แต่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะปกติข้างเคียงสูง ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอาจไม่ดีมากนัก ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีของการสร้างภาพที่ก้าวหน้ามากขึ้น เช่น การใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan), การใช้เพท-ซีทีสแกน (PETCT Scan) ทำให้สามารถบอกตำแหน่งรอยโรคได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น สามารถสร้างภาพเป็นระบบ 3 มิติ ประกอบกับเครื่องมือฉายรังสีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ร่วมกับพัฒนาการด้านการวางแผนการรักษาทางรังสีด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้ทำการรักษาด้วยรังสีเจาะจงเฉพาะตำแหน่งเป้าหมายที่ต้องการรักษา และหลีกเลี่ยงให้รังสีกระทบต่ออวัยวะปกติรอบข้างให้น้อยที่สุด แต่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะ 3-4 แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดและ/หรือยามุ่งเป้า เป็นการรักษาโดยการให้ยาเพื่อทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ใช้ร่วมกับรังสีรักษาเพื่อควบคุมโรคให้ดีขึ้น หรือใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคแพร่กระจายแล้ว สามารถเพิ่มระยะเวลาที่มีชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย
อย่างไรก็ตาม ศ.เกียรติคุณ น.พ.สว่าง แนะว่า ปัจจุบันมีวิทยาการอันทันสมัยที่จะช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้น หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอด อย่ามัวตกใจหรือเครียดจนกินไมได้นอนไม่หลับ เพราะมีแต่จะซ้ำเติมอาการให้แย่ลง ควรศึกษาหาข้อมูลและปรึกษาแพทย์ถึงแนวทางการรักษาที่เหมาะสม