ธนาคารโลก : ภาษียาสูบมาตรการดีที่สุดในการช่วยชีวิต
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 13 ธันวาคม 2556
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
ธนาคารโลก : ภาษียาสูบมาตรการดีที่สุดในการช่วยชีวิต
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยรายงานการศึกษาของธนาคารโลกล่าสุดที่สรุปว่า การขึ้นภาษีสินค้าบริโภคที่ทำลายสุขภาพโดยเฉพาะสินค้ายาสูบ เป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการที่จะลดการเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังและส่งผลทำให้สุขภาพประชากรโลกดีขึ้น
ธนาคารโลกได้มอบหมายให้นักวิชาการกว่า 20 คนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งฮาวาร์ด ทำการวิเคราะห์สภาวะและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับการพัฒนาด้วยการลงทุนด้านสุขภาพในโอกาสครบรอบยี่สิบปีที่มีการรายงานการศึกษาลักษณะเดียวกันเมื่อ พ.ศ.2536 รายงานดังกล่าวเปิดเผยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม มีความยาว 58 หน้า มีบทสรุปว่า การลงทุนด้านสุขภาพได้ผลตอบแทนที่สูงมหาศาลต่อการพัฒนาประเทศ การทำให้สุขภาพชาวโลกดีขึ้นสามารถบรรลุเป้าหมายภายใน 20 ปีข้างหน้านี้ จากการที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศยากจนดีขึ้น นโยบายด้านการเงินการคลังมีความสำคัญมากในการควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่มีการใช้มาตรการนี้ไม่มากเท่าที่ควร และนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีบทบาทสำคัญที่ทำให้สุขภาพประชากรดีขึ้น
ในส่วนของการแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการป่วยและเสียชีวิตของประชากรโลก รายงานแนะนำให้ใช้มาตรการทางภาษีในการควบคุมสินค้าที่ทำลายสุขภาพ อันมียาสูบ สุรา เครื่องดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลสูง และอาหารที่มีไขมัน เกลือสูง เพื่อลดการบริโภคสินค้าเหล่านี้ และภาษีที่จะส่งผลดีมากที่สุดคือภาษียาสูบ โดยนอกจากทำให้การบริโภคลดลงแล้ว ยังทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ มีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นด้วย โดยหากขึ้นภาษียาสูบให้ราคาบุหรี่แพงขึ้นร้อยละ 50 ในประเทศจีน จะสามารถป้องกันการเสียชีวิตจากยาสูบได้ 20 ล้านคน ขณะที่รัฐบาลจีนจะมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น สองหมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเป็นเวลา 50 ปี ขณะที่ในอินเดียการขึ้นภาษีที่ทำให้ราคาแพงขึ้นร้อยละ 50 จะป้องกันการเสียชีวิตจากยาสูบได้ 4 ล้านคน และทำให้รัฐบาลอินเดียมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นอีก สองพันล้านเหรียญต่อปีเป็นเวลา 50 ปี เป็นอย่างน้อยก่อนที่รายได้จะเริ่มลดเนื่องจากการสูบบุหรี่ลดลง
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่ารายงานของธนาคารโลกสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ระหว่าง พ.ศ.2536 ถึง พ.ศ.2555 มีการขึ้นภาษียาสูบทั้งหมดสิบครั้งทำให้ภาษียาสูบที่เก็บได้ประมาณ 15,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2536 เพิ่มเป็นเก็บได้ 67,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2556 และเฉลี่ยรัฐบาลมีรายได้จากภาษียาสูบที่เก็บได้เพิ่มขึ้น 22,000 ล้านบาทต่อปี ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่จำนวนผู้สูบบุหรี่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น 5 ล้านคน ซึ่งลดจำนวนคนไทยที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่หลายแสนคน และถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะขึ้นภาษียาสูบเพื่อไม่ให้เด็ก ๆ เข้ามาติดบุหรี่มากขึ้น
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
โทร. 0-2278-1828 / 08-1822-9799