การแถลงข่าว เรื่อง “บ้านเราปลอดบุหรี่ ลดความเสี่ยงการติดบุหรี่ของลูก”

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

logo-smoke

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่  6 มกราคม 2557

วันที่ข่าวตีพิมพ์  :  สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 การแถลงข่าว เรื่อง “บ้านเราปลอดบุหรี่ ลดความเสี่ยงการติดบุหรี่ของลูก”

ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)

 

   

 

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2557 ในการเสวนา เรื่อง “บ้านเราปลอดบุหรี่ ลดความเสี่ยงการติดบุหรี่ของลูก” จัดโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ณ โรงแรมสุโกศล                

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่า  ควันบุหรี่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อผู้ไม่สูบบุหรี่  รายงานการวิจัยตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2554 พบว่า  ทั่วโลกมีผู้ไม่สูบบุหรี่ที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ 6 แสนคนในปี พ.ศ.2547  จำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 165,000 คน 1  ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อในปอด ที่เหลือเป็นผู้ใหญ่เพศหญิง 281,000 คน  เพศชาย 156,000 คน  รายงานการวิจัยยังพบว่าวัยรุ่นที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนติดบุหรี่มากกว่าวัยรุ่นที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ในบ้าน 2           การสำรวจการสูบบุหรี่ในคนไทยผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป พ.ศ.2554  พบว่า มีผู้ไม่สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน 3  ทั่วโลกจึงมีการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่  เนื่องจากไม่สามารถออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในบ้านได้

รศ. ดร.บุปผา ศิริรัศมี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม  มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการติดตามผลกระทบจากนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบ (ประเทศไทย)  เปิดเผยข้อมูลการสำรวจ กลุ่มตัวอย่างวัยรุ่น 1,000 คนกระจายทั่วประเทศ ติดตามต่อเนื่องระหว่างปีพ.ศ. 2548 – 2554 พบว่าบ้านที่วัยรุ่นอาศัยอยู่มีกติกาห้ามสูบบุหรี่ในบ้านเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 27 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 68 ในปี 2554 ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลในปีพ.ศ. 2554 พบว่าบ้านที่มีการห้ามสูบบุหรี่มีสัดส่วนวัยรุ่นไม่สูบบุหรี่สูงกว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ คือร้อยละ  84 และร้อยละ 16   ส่วนบ้านที่ไม่มีข้อห้ามในการสูบบุหรี่ในบ้าน พบว่ามีสัดส่วนของวัยรุ่นไม่สูบบุหรี่ต่ำกว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่เล็กน้อย

นางสาวธีรนุช ก้อนแก้ว นักวิจัยในโครงการฯ ชี้ว่า บ้านที่ห้ามสูบบุหรี่ในทุกพื้นที่เป็นเกราะป้องกันวัยรุ่นจากการสูบบุหรี่ จากผลการวิจัยพบว่า วัยรุ่นจากครอบครัวที่ห้ามสูบบุหรี่ในบ้านระบุว่าจะไม่สูบบุหรี่แน่นอนในอนาคต ร้อยละ 79 และอนาคตจะสูบแน่นอนร้อยละ 2 ส่วนวัยรุ่นจากครอบครัวที่บ้านไม่มีข้อห้ามในการสูบบุหรี่ในบ้านคิดว่าจะไม่สูบบุหรี่ในอนาคตเพียงร้อยละ 40 และ จะสูบแน่นอน ร้อยละ 9

นอกจากนี้ รศ.พญ. ทวิมา  ศิริรัศมี รองหัวหน้าโครงการ ฯ ได้ทำการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการสูบบุหรี่ของวัยรุ่น ชี้ว่า บ้านที่ไม่มีการห้ามสูบบุหรี่เลยเพิ่มความเสี่ยงในการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นถึง 3 เท่า ขณะที่บ้านที่ห้ามสูบบุหรี่บางพื้นที่เพิ่มความเสี่ยงในการสูบบุหรี่ 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านที่ห้ามสูบบุหรี่ทุกพื้นที่

ศ.คลินิก (พิเศษ) พญ.มุกดา หวังวีรวงศ์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่องบุหรี่ของพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวน 658 ตัวอย่างจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เมื่อปีพ.ศ. 2551 พบว่า พ่อแม่/ผู้ปกครองมีอัตราการสูบบุหรี่ ร้อยละ 63.4 ร้อยละ 82 มีการสูบหรี่ในบ้าน ร้อยละ 35 เคยเห็นบุตรหลานเลียนแบบท่าทางการสูบบุหรี่    มีพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ถึงครึ่งหนึ่งไม่ทราบว่า โรคต่างๆในเด็กเกี่ยวข้องกับการได้รับควันบุหรี่มือสอง เช่น ทำให้เด็กเป็นหวัดบ่อยขึ้นเพียงร้อยละ 37   ติดเชื้อทางเดินหายใจร้อยละ 51.8  หืดจับบ่อยขึ้นร้อยละ 53.8  หูน้ำหนวกร้อยละ 17.4 และไหลตายเพียงร้อยละ 17 นอกจากนี้มีการศึกษาของ รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า พบว่า การที่สมาชิกในบ้านที่สูบบุหรี่อุ้มเด็ก เล่นกับเด็กอย่างใกล้ชิดและป้อนอาหารให้เด็ก ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคหายใจส่วนล่างเพิ่มขึ้น 3.82 เท่า   และจากการศึกษาของ พญ.วนพร  อนันตเสรี จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในเด็กอายุ 1 ขวบ 725 คนที่ได้รับควันบุหรี่ในบ้านสามารถตรวจพบสารโคตินินในปัสสาวะ ร้อยละ 40.7

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ ตระหนักถึงอันตรายจากบุหรี่และควันบุหรี่ ได้จัดโครงการต้นแบบในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่ ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยโดยไม่สูบบุหรี่ในบ้าน เพื่อลดอันตรายจากควันบุหรี่มือสองในบ้าน กิจกรรมประกอบด้วย การจัดระบบบริการเพื่อส่งเสริมการเลิกสูบบุหรี่ให้กับผู้ใช้บริการ  การฝึกอบรมพยาบาลที่แผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ในการประเมิน  ให้ความรู้ และให้คำปรึกษาเพื่อการเลิกสูบบุหรี่   แจกสื่อที่เกี่ยวข้องแก่ครอบครัวเด็กที่มีผู้สูบบุหรี่   มีระบบแนะนำให้ผู้สูบบุหรี่ไปรักษายังคลินิกอดบุหรี่   และมีระบบติดตามประเมินผล  ผลสำเร็จของโครงการ (ในหนึ่งปีแรก)  พบว่า มีผู้เลิกสูบบุหรี่ร้อยละ 3.43   ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ร้อยละ 40.57   ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ร้อยละ 56.02  ในช่วง 2 ปี ต่อมา ทางสถาบันฯ ได้ขยายโครงการเป็นโครงการเครือข่ายบ้านปลอดบุหรี่อีก 7 แห่ง  ได้แก่ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์  โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์  โรงพยาบาลบ้านโป่ง   โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์   ศูนย์สงเสริมสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์  โรงพยาบาลพิษณุโลก และโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช   ซึ่งเครือข่ายทั้ง 7 แห่งได้ดำเนินการ “โครงการบ้านปลอดบุหรี่” อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ   สำหรับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จากการติดตามผลทั้งหมด (พ.ศ. 2552-2554) จากคนที่สูบบุหรี่ 5,293 คน  พบว่า สูบในบ้านร้อยละ 42.2   เปลี่ยนพฤติกรรมจากสูบในบ้านเป็นนอกบ้านร้อยละ 30.4   สูบน้อยลงร้อยละ 17.5  และไม่เปลี่ยนพฤติกรรมร้อยละ 9.9

 ดังนั้น หากต้องการลดปัญหาการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชนโดยไม่ให้เด็กเริ่มต้นสูบบุหรี่ในอนาคต ต้องเน้นความสำคัญของการให้ความรู้พ่อแม่ – ผู้ปกครองถึงผลกระทบของปัญหาสุขภาพในบุตรหลาน  และแบบอย่างของการไม่สูบบุหรี่ของพ่อแม่ – ผู้ปกครอง ด้วยการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กไทย  พญ.มุกดา กล่าว

เอกสารอ้างอิง:

  1. Worldwide burden of disease from expose to secondhand smoke : a retrospective analysis of data from 192 counties : The Lancet : 2011;377:139-146
  2. Evaluating the Effectives of Smoke-Free Policies Vol.13 Lyon, France 2008
  3. Global Adult Tobacco Survey : Thailand Report, 2011 6-2 Secondhand smoke

ผู้ประสานงาน:  หริสร์ ทวีพัฒนา  

โทร: 02-3545346 , 089-6627917

โทรสาร: 02-3545347 

Email: haris@trc.or.th