ขึ้นภาษียาสูบสามเท่า ลดคนตาย 200 ล้านคน

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่  30 เมษายน 2557

วันที่ข่าวตีพิมพ์  :  สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

ขึ้นภาษียาสูบสามเท่า  ลดคนตาย 200  ล้านคน 

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยรายงานการวิจัยโดย เซอร์ริชาร์ด ปีโต จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดว่า หากมีการขึ้นภาษียาสูบอีก 3 เท่าตัวทั่วโลก จะลดคนที่จะตายจากการสูบบุหรี่ได้กว่า 200 ล้านคน โดยการขึ้นภาษีดังกล่าวต้องเก็บภาษีตามสภาพน้ำหนักหรือต่อมวนบุหรี่  ที่จะทำให้บุหรี่ชนิดราคาถูกมีราคาเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อป้องกันการหันไปสูบบุหรี่ราคาถูกเมื่อมีการขึ้นภาษี   ทั้งนี้หากขึ้นภาษียาสูบไปสามเท่า จะลดการสูบบุหรี่ทั้งโลกได้หนึ่งในสาม  ในขณะที่แม้การขึ้นภาษีสามเท่าจะทำให้การสูบบุหรี่ลดลง แต่รัฐบาลทั่วโลกจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นจาก 300 พันล้านดอลลาร์ เป็น 400 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หรือเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งในสาม  เซอร์ริชาร์ด ปีโต เปิดเผยต่อไปว่า  บริษัทบุหรี่ข้ามชาติมีกำไรสุทธิ  50,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี สำหรับคนสูบบุหรี่ที่เสียชีวิตปีละ 5 ล้านคน เท่ากับว่าบริษัทบุหรี่มีกำไร 10,000  ดอลลาร์ (320,000  บาท) ต่อทุกคนสูบบุหรี่ที่เสียชีวิต

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กล่าวว่าประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มเก็บภาษีตามน้ำหนักในการขึ้นภาษีเมื่อ พ.ศ.2555   โดยก่อนหน้านี้ใช้วิธีประเมินภาษีตามราคาต้นทุนที่บริษัทบุหรี่แจ้ง  ซึ่งทำให้บริษัทบุหรี่แจ้งราคาต้นทุนต่ำกว่าความจริง  รวมทั้งผลิตบุหรี่ราคาถูก ๆ ออกจำหน่าย  การขึ้นภาษีครั้งสุดท้ายเก็บในอัตรา 1 บาทต่อกรัม เพื่อให้บุหรี่ซอง 20 มวน มีภาระภาษีขั้นต่ำ 20 บาท  สำหรับบุหรี่ที่ประเมินภาษีตามราคาต้นทุนที่บริษัทบุหรี่แจ้งแล้ว  มีภาระภาษีไม่ถึงซองละ 20 บาท แต่บริษัทบุหรี่ก็แก้เกม ด้วยการทำบุหรี่ให้มีน้ำหนักน้อยกว่า 20 มวนต่อซอง กระทรวงการคลังจึงต้องขึ้นภาษีตามสภาพเป็นอย่างน้อย 1.5 บาท หรือ 2.0 บาทต่อกรัม หรือ 1.5 บาท หรือ 2.0 บาท ต่อมวน เพื่อทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง และรัฐเก็บภาษียาสูบได้เพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกันต้องขึ้นภาษีบุหรี่ยาเส้นให้เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อป้องกันคนสูบบุหรี่หันไปสูบยาเส้น เมื่อมีการขึ้นภาษีบุหรี่ซิกาแรต 

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

โทร. 0-2278-1828 / 08-1822-9799