บุหรี่: ภาษียิ่งเพิ่ม คนตายยิ่งลด

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่  16 พฤษภาคม 2557

วันที่ข่าวตีพิมพ์  :  สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

บุหรี่: ภาษียิ่งเพิ่ม  คนตายยิ่งลด

วันนี้ (16 พฤษภาคม 2557) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  จัดการแถลงข่าว เรื่อง “บุหรี่: ภาษียิ่งเพิ่ม คนตายยิ่งลด”  เพื่อชูประเด็นและให้เกิดกระแสของการรณรงค์อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31  พฤษภาคม 2557 ที่จะถึงนี้

ดร.โยนัส เทเก้น ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย  (Dr.Yonas Tegegn, The WHO Representative to Thailand)  กล่าวว่า  สืบเนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก  โดยในปี พ.ศ.  2557  นี้  ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ไว้ว่า Raise taxes on tobacco ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้ภาษาไทยว่า “บุหรี่ : ภาษียิ่งเพิ่ม คนตายยิ่งลด” และองค์การอนามัยโลกยินดีอย่างยิ่งในการกำหนดประเด็นรณรงค์นี้   โดยการรณรงค์ในปีนี้องค์การอนามัยโลกจะเน้นเชิญชวนให้นานาประเทศทั่วโลกเรียกร้องให้รัฐบาลของตนเองขึ้นภาษียาสูบให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น  ซึ่งการบริโภคยาสูบเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ที่สามารถป้องกันได้  การบริโภคยาสูบของประชากรโลกทำให้ผู้คนล้มตายประมาณ 6 ล้านคนในแต่ละปี และมากกว่า 600,000 คน ตายเพราะการได้รับควันบุหรี่มือสอง หากเราละเลยในเรื่องนี้ ในอนาคตไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า ค.ศ. 2030 คาดการณ์ว่าจะมีคนตายจากการสูบบุหรี่ถึง 8 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 จะเป็นประชากรที่อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลาง

นพ.นพพร  ชื่นกลิ่น  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า  การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยปีละ  50,710  คน  และเป็นสาเหตุของภาระโรคอันดับที่สองของคนไทย  โดยทำให้คนเสียเวลาแห่งชีวิตจากการตายก่อนเวลา  628,061  ปี  และสูญเสียสุขภาวะจากการเจ็บป่วยหนัก 127,184  ปี  ในแต่ละปี  ทำให้เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วย  52,200  ล้านบาท  ซึ่งคิดเป็น 0.5% ของ GDP

ด้าน รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้นำเสนอผลการวิจัยที่ศึกษาถึงทิศทางระบบภาษีและราคายาสูบในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  บทเรียนสำหรับประเทศไทย   รศ.ดร.อิศรา กล่าวว่า  การที่ประเทศไทยกำหนดราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตสูงสุด  ทำให้บริษัทบุหรี่ใช้วิธีแจ้งราคาเท็จที่ต่ำกว่าความจริงในการประเมินภาษี  หรือนำเข้าบุหรี่ที่มีต้นทุนต่ำเข้ามาจำหน่าย  จากการศึกษาระบบภาษียาสูบของประเทศในภูมิภาคอาเซียน  ประเทศอินโดนีเซียใช้วิธีกำหนดราคาขายต่ำสุด  ทำให้บริษัทบุหรี่มีแนวโน้มที่จะขายบุหรี่ในราคาที่สูงขึ้นเพื่อเพิ่มกำไร  ซึ่งก็จะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มมาก

รศ.ดร.อิศรา  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ในส่วนที่ขณะนี้ประเทศไทยใช้นโยบายสองเลือกหนึ่ง  คือการคำนวณภาษีตามราคาต้นทุนที่บริษัทบุหรี่แจ้ง  หรือคำนวณภาษีตามสภาพ คือ ตามน้ำหนักมวนบุหรี่  หากวิธีคำนวณไหนมีมูลค่าภาษีมากกว่า  ก็ให้เก็บตามวิธีนั้น  ควรจะต้องมีระบบในการปรับอัตราภาษีตามสภาพเป็นระยะ ๆ ทุก ๆ 2-          3 ปี และมีการตรวจสอบความถูกต้องของราคาต้นทุนที่บริษัทบุหรี่แจ้งเพื่อประเมินภาษีอยู่เสมอ

ขณะที่  ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์   ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล  ชี้ว่า การบริโภคยาเส้นในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหา เพราะทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่เกิดจากการบริโภคยาสูบ เกือบครึ่งหนึ่งของความสูญเสียทั้งหมด 6 หมื่นล้านบาท ในขณะที่มาตรการการเก็บภาษียาเส้นที่บริโภคเป็นบุหรี่มวนเองไม่เคยถูกนำมาใช้ จนกระทั่งปี พ.ศ.2555 ซึ่งมีการปรับขึ้นจากอัตรา 1 บาทต่อกิโลกรัมเป็น 10 บาทต่อกิโลกรัม พบว่าให้ผลดีในการลดจำนวนผู้บริโภคบุหรี่มวนเองในประเทศไทย กว่า 1 ล้านคน คือจากผู้บริโภคบุหรี่มวนเอง 5.3 ล้านคนในปี พ.ศ. 2554 ลดเป็น 3.6 ล้านคนในปี พ.ศ.2556 แต่บางคนหันไปบริโภคบุหรี่ซองราคาถูกแทน ทั้งนี้ผลที่เกิดขึ้นมาจากมาตรการอื่น ๆ ที่ สสส. กระทรวงสาธารณสุข และ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ดำเนินการระหว่างปี 2554-2556 ร่วมด้วย อาทิ เช่น การโฆษณาทางโทรทัศน์เรื่องยาเส้นตายเท่ากับบุหรี่ซอง และมาตรการชุมชนปลอดบุหรี่ เป็นต้น

ดังนั้นการดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสุขภาพ ควรปรับปรุงภาษีกับผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท รวมถึงยาเส้น โดยปรับขึ้นทั้งอัตราตามสภาพและอัตราตามปริมาณ เพื่อลดการเปลี่ยนประเภทไปบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ราคาถูกกว่า นอกจากนี้รัฐบาลควรนำยาสูบพันธุ์พื้นเมืองเข้าสู่ระบบภาษีอย่างเร่งด่วน โดยให้ผู้ประกอบการยาเส้นเป็นผู้เสียภาษี ไม่ให้เป็นภาระกับเกษตรกร

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวทิ้งท้ายว่า  ความพยายามของบริษัทบุหรี่ในการยับยั้งการขึ้นภาษียาสูบนับวันยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น  ขณะนี้ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส กำลังแคมเปญเพื่อไม่ให้รัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่ โดยสนับสนุนให้มีการทำวิจัยถึงปริมาณบุหรี่หนีภาษีในเอเชียแปซิฟิกรวมทั้งประเทศไทยว่ามีอัตราบุหรี่หนีภาษีสูงโดยโทษว่ามีการเก็บภาษีสูงเกินไป รวมทั้งแสดงรายละเอียดโครงสร้างภาษีบุหรี่ไทยผ่านเฟซบุค “ชมรมผู้สูบบุหรี่ไทย หรือ ชมรมคนสูบบุหรี่"(Thai Smokers Community, www.facebook.com/thaismokers)  เชิญชวนให้ผู้สูบบุหรี่ไทยแสดงความคิดเห็นคัดค้านการขึ้นภาษี จึงอยากให้กระทรวงการคลังรู้ทันกลยุทธ์ของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส และควรขึ้นภาษีบุหรี่  เนื่องจากการขึ้นภาษีครั้งสุดท้ายผ่านไป 2 ปีและผลการขึ้นภาษีได้จบไปแล้ว

 

 

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

โทร. 0-2278-1828 / 08-1822-9799