“เข้าพรรษาปลอดบุหรี่ พระสงฆ์สุขภาพดี ฆราวาสได้บุญ”

 

“หมอประกิต” เผย สถิติสูบบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์ยังสูง สูบลดลงน้อยสุดหากเทียบครู-แพทย์ “มจร.-สสส.-คลินิกฟ้าใส-มูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่” เดินหน้า 3 แนวทางรณรงค์ลด ละ เลิก วอนชาวพุทธ หยุดถวายบุหรี่ ดีเดย์เข้าพรรษานี้

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในการแถลงข่าว “เข้าพรรษาปลอดบุหรี่ พระสงฆ์สุขภาพดี ฆราวาสได้บุญ” ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า มีการสำรวจสถานการณ์การสูบบุหรี่ในกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ แพทย์ และครู ในปี 2530 พบพระภิกษุสงฆ์มีอัตราการสูบบุหรี่ 54.5% แพทย์ 23.3% และครู 23.3% จึงมีการตั้งเป้าดำเนินการลดอัตราการสูบบุหรี่ใน 3 กลุ่มดังกล่าว เนื่องจากต้องพบเจอประชาชนจำนวนมาก เป็นที่เคารพนับถือ เป็นตัวอย่างและสอนคนอื่นๆ ในสังคมได้ จนเมื่อปี 2547 พบว่า อัตราพระที่สูบบุหรี่ลดลงเหลือ 37.2% ปี 2552 ครูลดลงเหลือ 8.8% และปี 2555 แพทย์เหลือ 3% จะเห็นว่ากลุ่มพระภิกษุสงฆ์มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงน้อยกว่ากลุ่มครูและแพทย์ และมีอัตราการสูบบุหรี่เกือบเท่ากับอัตราการสูบบุหรี่ของชาวบ้านทั่วไป

“ปัจจัยสำคัญที่พระภิกษุสงฆ์มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงน้อยกว่ากลุ่มครู และแพทย์ อาจเนื่องจากติดบุหรี่ตั้งแต่ก่อนการบวช อีกทั้งไม่มีการรณรงค์ลด ละ เลิกบุหรี่ในกลุ่มพระมากนัก แม้มีกฎหมายให้วัดเป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ ก็ไม่มีการเข้าไปกวดขันจับกุม ไม่เหมือนโรงพยาบาลที่กำหนดไว้ในการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล หากมีการฝ่าฝืนเรื่องการสูบบุหรี่จะไม่ผ่านการรับรอง นอกจากนี้ ยังมีการถวายบุหรี่แก่พระสงฆ์ โดยเฉพาะในชนบทที่มีประมาณ 10% ช่วงเข้าพรรษาจึงเป็นโอกาสดีที่จะมีการรณรงค์เรื่องการลดการสูบบุหรี่ในกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาวะพระสงฆ์และวัด ทั้งผลักดันนโยบายสาธารณะให้เกิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประเด็นพระสงฆ์กับสุขภาวะ ร่วมกับกรมอนามัยและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขับเคลื่อนสุขภาวะพระระดับประเทศ สำหรับการสูบบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์ ได้ร่วมกับ มจร. และคลินิกฟ้าใส ลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ในพระสงฆ์ นำร่อง 15 จังหวัดทั่วประเทศ ใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.เชื่อมประสานเครือข่ายการทำงาน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดบุหรี่ในกลุ่มพระสงฆ์และบุคลากรของวัด 2.จัดเวทีและพื้นที่ในการถวายความรู้ และ 3.สร้างพื้นที่การป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดบุหรี่เชิงลึก โดยขยายเครือข่ายจากการทำงานของ มจร. และ สสส.

พระราชวรมุนี(พล อาภากโร) รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) กล่าวว่า นอกจากการร่วมลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ในพระสงฆ์ มจร.ยังให้การสนับสนุนในเชิงวิชาการสำหรับโครงการหมู่บ้านศีล 5 อันเป็นนโยบายของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่คณะสงฆ์เป็นผู้ดำเนินการแล้วในหลายจังหวัด เพื่อการลด ละ เลิก อบายมุขอย่างยั่งยืนด้วย ทั้งนี้ การทำทานให้ได้บุญมาก ต้องพร้อมด้วยองค์ 3 คือ 1.วัตถุบริสุทธิ์ ของที่จะให้ทานต้องเป็นของที่ได้มาโดยสุจริตชอบธรรม 2.เจตนาบริสุทธิ์ เพื่อกำจัดความตระหนี่ออกจากใจตน และ 3.บุคคลบริสุทธิ์ เลือกให้แก่ผู้รับที่เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ส่วนบุหรี่นั้น ตามหลักศาสนาถือว่าเป็น “เมรย”ตามศีลข้อ 5 หมายถึงสิ่งเสพติด ซึ่งพระพุทธเจ้าห้ามมิให้ส่งเสริมมิจฉาวณิชชา คือการค้าขายที่ผิด หรือไม่ชอบธรรม เช่นการขายอาวุธ การขายสุราและของมึนเมา เข้าพรรษานี้ เป็นโอกาสดีที่จะตั้งจิตกุศลเป็นเบื้องต้นในการไม่ถวาย รวมถึงเลิก ลด ละ สิ่งเสพติดทั้งหลาย อันจะได้อนิสงส์ในการรักษาสติปัญญาและสังคม มูลเหตุสำคัญทำให้บุคคลและสังคมมีความสุขความเจริญ

แต๊งค์ - พงศกร มหาเปารยะ กล่าวว่า ในฐานะที่เคยบวชเรียนมาก่อน มองว่า ปัจจุบันมีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่ยังสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพทั้งต่อพระสงฆ์ที่สูบ และไม่สูบ การรณรงค์ให้ประชาชนไม่ถวายบุหรี่ในช่วงเข้าพรรษานี้ น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะร่วมกันสนับสนุนการลดการสูบบุหรี่ ลดโอกาส และความเสี่ยง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดโทษต่อสุขภาพของพระสงฆ์ ซึ่งน่าจะเป็นการทำบุญด้วยความปรารถนาดีอย่างแท้จริง

น้องยอร์ช - ยงศิลป์ วงศ์พนิตนนท์ กล่าวว่า ช่วงเข้าพรรษาเป็นวันหยุดยาว เป็นโอกาสดีที่ครอบครัวจะได้ไปทำบุญร่วมกัน ซึ่งน้องยอร์ชได้ช่วยพ่อแม่เตรียมชุดสังฆทาน เทียนพรรษา และยาสามัญ เพื่อนำไปทำบุญด้วยกันแล้ว ส่วนบุหรี่จะไม่ซื้อถวาย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพของทุกคน รวมทั้งพระสงฆ์ที่เราเคารพนับถือด้วย