เผยโรค NCDs คือฆาตกรอันดับหนึ่ง คุมไม่อยู่ยอดตายพุ่งต่อเนื่อง วอนทุกฝ่ายเอาจริง

เผยโรค NCDs คือฆาตกรอันดับหนึ่ง คุมไม่อยู่ยอดตายพุ่งต่อเนื่อง วอนทุกฝ่ายเอาจริง

               

            เปิดตัวรายงานโรค NCD พบคนไทยตายด้วยโรค NCD ปีละกว่าสามแสนคน และตายเพิ่มขึ้นปีละ 8 พัน ก่อปัญหาสังคมกว่าสองแสนล้านบาท ไม่แก้ไขถึงถังแตกได้ 

                นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ “รายงานสถานการณ์ โรค NCDs  วิกฤตสุขภาพ วิกฤตสังคม” ซึ่งเป็นรายงานฉบับแรกของไทยที่ว่าด้วยสถานการณ์และแนวโน้มของโรค NCDs หรือ กลุ่มโรคเรื้อรัง ว่าจากข้อมูลเป็นที่แน่ชัดว่าโรค NCDs เป็นฆาตกรอันดับหนึ่งของคนไทยที่ฆ่าคนไทยถึงปีละสามแสนคน หรือมากกว่าสาเหตุการเสียชีวิตอื่นๆทุกสาเหตุรวมกันถึง 3 เท่า และยังก่อปัญหาและภาระกับคนรอบข้างผู้ป่วย ทำลายคุณภาพประชากร และโรค NCDs ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล โดยรัฐต้องแบกรับต้นทุนที่เกิดจากโรค NCDs ถึง สองแสนล้านบาทต่อปี   หรือกล่าวได้ว่า ต้นทุนที่คนไทยแต่ละคนต้องร่วมกันแบกรับเป็นมูลค่าถึง 3,182 บาทต่อปี ทั้งๆ ที่โรคดังกล่าวเป็นโรคที่สามารถป้องกันและควบคุมได้  แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ใช่จุดสูงสุดของปัญหา แนวโน้มความสูญเสียดังกล่าวมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกๆปีเราจะมีคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นปีละกว่าแปดพันคน เยาวชนไทยมีแนวโน้มสูบบุหรี่และดื่มเหล้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ คนไทยกินอาหารรสหวาน  มัน และเค็ม เพิ่มมากขึ้น กินผักและผลไม้ลดน้อยลง และมีกิจกรรมเคลื่อนไหวของร่างกายลดลง คือ มีการดูทีวี การเล่นคอมพิวเตอร์ มากขึ้น ในขณะที่การคัดกรองและดูแลรักษาผู้มีความเสี่ยงและผู้ป่วยก็ยังทำได้ไม่มีประสิทธิภาพนัก

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เปิดเผยว่าจากความร่วมมือของหลายฝ่าย ปัจจุบันสังคมไทยมีความตระหนักถึงปัญหาโรค NCDs มากขึ้นแล้วเริ่มทราบว่าโรค NCDs คือโรคที่มาจากการสะสมพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะสี่พฤติกรรมสำคัญ การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การกินอาหารที่อาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม และการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ แต่ สังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงอย่างจริงจังเพียงพอ ขณะนี้องค์การสหประชาชาติได้ยกระดับปัญหา NCDs จากปัญหาสุขภาพไปเป็นปัญหาของระบบเศรษฐกิจและสังคม พร้อมกำหนดเป้าหมายของโลกในปี 2025 แล้ว ดังนั้น ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับมาตรการที่องค์การอนามัยโลกรับรองว่าได้ผลและมีความคุ้มค่าสูงมาใช้เป็นเครื่องมือ เช่น มาตรการทางภาษีและราคา การควบคุมการโฆษณา การจำกัดการเข้าถึง และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ รวมทั้งควรมีกระบวนการประสานเชื่อมโยงเครือข่ายขององค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการ ภาควิชาชีพสุขภาพ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพื่อรวมพลังสนับสนุนการขับเคลื่อนรูปธรรมของการลดปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันโรคกลุ่มนี้ในสังคมไทยอย่างมีประสิทธิผลต่อไป