สสส. : นวัตกรรมงบประมาณสร้างสุขภาพ
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 10 กันยายน 2557
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
สสส. : นวัตกรรมงบประมาณสร้างสุขภาพ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษาเครือข่าย สสส.นานาชาติ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ทำข้อเสนอถึง คสช.ที่ให้ดึงงบประมาณของ สสส. กลับเข้าสู่ระบบแล้วจัดสรรออกมาตามปกติ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อความโปร่งใสในการใช้งบประมาณนั้น คงจะมาจากการที่ น.ส.ดาวน้อย ไม่ทราบความจริงที่ว่า หลังจากการดำเนินการมา 13 ปี ขณะนี้ สสส. ได้เป็นองค์กรต้นแบบที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนำไปปฏิบัติ
เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ประสบปัญหาเช่นเดียวกับที่ประเทศไทยเคยเจอก่อนการตั้ง สสส. ที่ไม่สามารถได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในขั้นตอนการของบประมาณแบบปกติ เนื่องจากฝ่ายการเมืองมักจะให้ความสำคัญแก่การจัดสรรงบประมาณสำหรับการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในระดับต่ำมาก ผลจากการชี้แนะขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยได้กลายเป็นต้นแบบของประเทศมองโกเลีย เวียดนาม ลาว ตองกา และมาเลเซียในการจัดตั้งองค์กรและแหล่งงบประมาณที่ยั่งยืนเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ในขณะที่อีกหลายประเทศอาทิ ซามัว โซโลมอนไอส์แลนด์ อยู่ในระหว่างการผลักดันกฎหมายเพื่อระบุแหล่งงบประมาณที่ยั่งยืน และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดให้มีการประชุมปฏิบัติการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนแบบ สสส.ให้แก่ผู้แทนประเทศเนปาล บังกลาเทศ มัลดีฟ ภูฏาน และพม่า ที่กรุงเทพฯ และในวันที่ 25-26 กันยายนนี้ เครือข่ายรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ภูมิภาคอาเซียนซึ่งสนับสนุนทุนโดยมูลนิธิบิล และเมลินดา เกต ก็จะมาจัดการประชุมปฏิบัติการเกี่ยวกับระบบงบประมาณที่ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการควบคุมยาสูบที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เช่นกัน โดยประเทศที่มาร่วมประชุมประกอบด้วยฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว พม่า บรูไน และสิงคโปร์ ซึ่งการที่ประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจและพยายามที่จะตั้งองค์กรและระบบงบประมาณแบบ สสส. ขึ้นในประเทศของตนเอง ย่อมเป็นประจักษ์พยานว่าการดำเนินงานของ สสส. มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพ อีกส่วนหนึ่งมาจากทุกประเทศต่างประสบปัญหาภาระโรค
การเสียชีวิตก่อนเวลา และค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จึงต่างหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการจัดระบบงบประมาณสนับสนุนที่ยั่งยืน ตามข้อแนะนำของที่ประชุมซัมมิทสหประชาชาติที่ให้มีการกำหนดแหล่งงบประมาณนวัตกรรม (Innovative financing) ที่ยั่งยืนเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อลดภาระความสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งโดยทั่วไปเป็นงบประมาณเพียงร้อยละหนึ่งถึงสองของงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ ทุกฝ่ายจึงควรที่จะเข้าใจตรงกันและให้กลไก สสส. ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศ และประชาคมโลก ส่วนเรื่องความโปร่งใสและความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณนั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายต่าง ๆ สามารถที่จะตรวจสอบได้อยู่แล้ว “สสส.เป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐไม่กี่แห่งที่มีประเทศต่าง ๆ มาดูงานแบบหัวบันไดไม่เคยแห้ง น่าจะมีเหตุผลว่าทำไม” ศ.นพ.ประกิต กล่าวในที่สุด
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
โทร. 0-2278-1828 / 08-1822-9799