ข้อมูลสำหรับ ผอก.รยส.

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่ 12 กันยายน 2557

วันที่ข่าวตีพิมพ์  :  สามารถเผยแพร่ได้ทันที

ข้อมูลสำหรับ ผอก.รยส.

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  ที่ปรึกษาเครือข่าย สสส.นานาชาติ  เปิดเผยภายหลังจากที่ได้ดู น.ส.ดาวน้อย  สุทธินิภาพันธ์  ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ  ให้สัมภาษณ์ออกเคเบิลทีวีช่องหนึ่งเมื่อวันที่ 12 กันยายน  ทำให้รู้ว่า   น.ส.ดาวน้อย  ซึ่งเพิ่งเข้ามาเป็นผู้อำนวยการโรงงานยาสูบเพียงสองเดือน  ยังไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงทั้งกรณี สสส. และปัญหาที่โรงงานยาสูบเผชิญอยู่  ในส่วนของ สสส. ที่ น.ส.ดาวน้อย  กล่าวย้ำว่า  ไม่รู้ว่า สสส. เอาเงินไปทำอะไร     น.ส.ดาวน้อย  ควรที่จะศึกษาหาข้อมูลก่อนที่จะพูดแบบคลุมเครือ  ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าคณะกรรมการกองทุน สสส.มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  รัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นรองประธาน  และมีกรรมการอีก 19 คน โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ฝักใฝ่การเมือง 9 คน  ผู้แทนระดับสูงของอีก 9 กระทรวง  มีการประชุมคณะกรรมการทุกเดือน  มีคณะกรรมการประเมินผล 7 คนที่เห็นชอบโดยกระทรวงการคลัง  และแต่งตั้งโดย ครม.  ทำหน้าที่ควบคู่กับคณะกรรมการกองทุน การกล่าวอ้างลอย ๆ ว่าไม่รู้ว่า สสส. เอาเงินไปทำอะไร  อาจจะเป็นการหมิ่นเหม่ได้ว่าเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงต่อทั้งคณะกรรมการกองทุน และกรรมการประเมินผลตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

ส่วนที่ รยส. ต้องชำระภาษีเพิ่มขึ้น แล้วกระทรวงการคลังนำส่งให้แก่ สสส. และไทยพีบีเอสนั้น  เป็นไปตามกฎหมายกำหนด  ซึ่งทุกบริษัทบุหรี่ต้องปฏิบัติตามไม่เฉพาะ รยส.  จึงไม่ควรที่จะบอกว่า รยส. ต้องส่งเงินให้สองหน่วยงานนี้  เงินที่ส่งมานั้นกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่เงินของ รยส.  แต่เป็นเงินของผู้สูบบุหรี่ทุกคนต่างหาก  ที่รัฐบาลกำหนดให้ยาสูบ ต้องมีภาษีสรรพสามิต เพื่อลดการบริโภค

            ในส่วนที่โรงงานยาสูบปฏิเสธที่จะบริจาคเงินให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่ขอมานั้นเป็นเรื่องที่ชอบธรรมแล้ว เพราะมติ ครม. วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2555  เห็นชอบตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ให้กระทรวงการคลัง ห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมภายใต้นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ  ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบ  องค์การอนามัยโลก เพราะการบริจาคเงินให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ เป็นการโฆษณาทางอ้อมและส่งผลทางลบต่อการกำหนดนโยบายควบคุมยาสูบ

ในส่วนของปัญหาการดำเนินการของโรงงานยาสูบนั้น รยส. ควรจะเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ซิกาแรต  ที่ขณะนี้คิดตามน้ำหนักหรือตามมูลค่า  แล้วแต่วิธีไหนจะมีมูลค่ามากกว่ากันนั้น  ขณะนี้มีบุหรี่นำเข้าที่ทำมวนขนาดต่ำกว่ามวนละหนึ่งกรัม  ทำให้เสียภาษีมวนละไม่ถึงหนึ่งบาท และซองละเพียง 14-15 บาท  ทำให้ราคาขายปลีกซองละ 25 บาท  ขณะที่บุหรี่ระดับล่างของโรงงานยาสูบยังมีน้ำหนักใกล้เคียงมวนละหนึ่งกรัม  มีภาระภาษีเกือบซองละยี่สิบบาท  ทำให้ราคาขายปลีกซองละ 33-34  บาท โรงงานยาสูบจึงเสียส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ให้แก่บุหรี่นำเข้ามากขึ้นมากขึ้น  ซึ่งเรื่องนี้มีทางแก้ความเสียเปรียบของโรงงานยาสูบ  โดยโรงงานยาสูบขอให้กระทรวงการคลัง เสนอกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานให้บุหรี่ซิกาแรตมีน้ำหนักมวนละหนึ่งกรัม  บุหรี่นำเข้าที่ราคาถูก ๆ ขณะนี้  ก็จะต้องเสียภาษีเท่ากับบุหรี่ของโรงงานยาสูบ  ทำให้ราคาสูงขึ้น  โรงงานยาสูบก็จะเสียส่วนแบ่งตลาดน้อยลง  เรื่องอย่างนี้ต่างหากที่โรงงานยาสูบควรจะผลักดัน  เพราะจะปกป้องรายได้ของโรงงานยาสูบและกระทรวงการคลังจะมีรายรับจากภาษีเพิ่มขึ้น  รวมทั้ง รยส. ควรผลักดันให้มีการเก็บภาษียาเส้นพันธุ์พื้นเมืองเพื่อป้องกันคนสูบบุหรี่ซิกาแรตหันไปสูบยาเส้น ซึ่งรัฐบาลไม่ได้รับภาษีแต่ต้องแบกภาระค่ารักษาโรคเมื่อผู้สูบยาเส้นป่วย  และท้ายสุดทุกฝ่ายต้องไม่ลืมว่า ธนาคารโลกสรุปว่าธุรกิจยาสูบทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าภาษีที่ได้รับ  ดังนั้นยิ่งขายบุหรี่มากเท่าไร  ส่วนรวมก็ยิ่งสูญเสียมากเท่านั้น

           

 

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :  ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่   

โทร. 0-2278-1828 / 08-1822-9799

เอกสารดาวน์โหลด