บุหรี่ทำไทยเสียรายได้ 3 เท่าของภาษียาสูบ

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่ 30 เมษายน 2558

วันที่ข่าวตีพิมพ์  :  สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

บุหรี่ทำไทยเสียรายได้ 3 เท่าของภาษียาสูบ

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เปิดเผยการวิเคราะห์ขององค์การอนามัยโลกที่พบว่าในปี พ.ศ.2555  ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่  79,000  คน  ทำให้เกิดการสูญเสียแรงงาน 59,000  คน  จากผู้ที่ควรจะทำงานได้แต่เสียชีวิตซะก่อน  อันทำให้เกิดการสูญเสียรายได้คิดเป็นร้อยละ 2.1  ของจีดีพี และเป็น 3 เท่าของภาษียาสูบที่เก็บได้ในปีเดียวกัน  และคาดการณ์ว่าในจำนวนคนไทย 10 ล้านคนที่สูบบุหรี่อยู่ 3.3  ล้านจะเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในอนาคต

            การวิเคราะห์ดังกล่าวเปิดเผยโดยนายมาร์ค กู๊ดไชล์ด นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส องค์การอนามัยโลก  ที่วิเคราะห์การใช้ยาสูบและภาษี มิติทางสุขภาพและการพัฒนาในอาเซียน (Tobacco use and taxation health and development perspective in ASEAN)  โดยวิเคราะห์จากฐานข้อมูลสถิติการสูบบุหรี่ขององค์การอนามัยโลกและฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจจากธนาคารโลก  พบว่า  10 ประเทศอาเซียน  มีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 676,000  คนในปี พ.ศ.2555  สูญเสียแรงงาน 461,000  คน  ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจเท่ากับร้อยละ 2.7  ของจีดีพีรวมของอาเซียน  และคิดเป็น 4 เท่าของภาษียาสูบที่ทั้ง 10 ประเทศได้รับรวมกันในปีเดียวกัน  ทั้งนี้อินโดนีเซียมีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือ 274,000  คน  ตามด้วยเวียดนาม 110,000 และเมียนมาร์ 82,000  คน  จากการสูบบุหรี่

สหประชาชาติได้ชี้ให้ประเทศต่าง ๆ เห็นความสำคัญของการควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 4 กลุ่มโรค  อันได้แก่โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง  โรคมะเร็ง  โรคถุงลมปอดพอง  และโรคเบาหวาน  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตปีละ 36 ล้านคนทั่วโลก และในจำนวนนี้ ร้อยละ 30 เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการรักษาพยาบาลและการขาดรายได้ที่ควรจะได้จากการเสียชีวิตในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน  อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ  ซึ่งทั้งสี่กลุ่มโรคมียาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วม  ปัจจัยอื่นได้แก่สุรา  การกินอาหารที่ไม่เหมาะสมและการขาดการออกกำลังกาย

 

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :  ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  โทร. 081-822-9799