เครือข่ายผู้ป่วยแฉบริษัทบุหรี่ทำให้ตายทั้งเป็น

PPRESS RELEASE

วันที่ 6 พฤษภาคม 2558

วันที่ข่าวตีพิมพ์  :  สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

 

เครือข่ายผู้ป่วยแฉบริษัทบุหรี่ทำให้ตายทั้งเป็น

 

วันนี้ (6 พฤษภาคม 2558) “เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากบุหรี่และยาสูบ” รวมตัวกันเพื่อประกาศให้สังคมไทยได้รับรู้ถึงผลกระทบใกล้ตัวอันเกิดจาการสูบบุหรี่และยาเส้น ทั้งสองอย่างนี้หรือที่เรียกรวมๆว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสินค้าเพียงชนิดเดียวบนโลกใบนี้ที่นำพาโรคร้ายแรงต่างๆนาๆแก่ผู้ที่ใช้มัน ส่งผลให้ผู้ที่เสพได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ไม่เพียงแค่นั้น ผลที่เกิดขึ้นยังกระทบไปถึงสมาชิกในครอบครัวทุกๆคน ที่ต้องสูญเสียกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์มากมายในการรับภาระดูแลผู้ป่วยที่ต้องตายทั้งเป็นเหล่านี้ ในขณะที่บริษัทบุหรี่ไม่เคยที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อลูกค้าที่ป่วยหรือเสียชีวิตจากการเสพผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาผลิตขึ้นเลย ตรงกันข้าม กลับพยายามแสวงหาลูกค้าใหม่มาทดแทนลูกค้าเก่าที่เริ่มป่วยหรือตายไปจากผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ก็พยายามขัดขวางกลไกของรัฐทุกๆอย่าง รวมทั้งกฎหมายใหม่ที่จะช่วยในการปกป้องเยาวชนไทยไม่ให้กลายเป็นเหยื่อรายใหม่ของพวกเขาอีกต่อไป

นายไสว ศรีผา ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน  หนึ่งในตัวแทนผู้ป่วยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เปิดเผยในการแถลงข่าว เรื่อง“เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากบุหรี่และยาสูบ” ซึ่งจัดโดย สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ว่า  ตนและเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากบุหรี่และยาสูบ ขอเรียกร้องให้บริษัทบุหรี่หยุดกระทำการคัดค้านการออก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่เสียที  เพราะไม่อยากให้เด็กและเยาวชนไทย มาตกเป็นเหยื่อของการเสพติดบุหรี่แบบพวกตนอีก ตนอยากเห็นประเทศไทยพัฒนาไปมากกว่านี้ อย่าเห็นแก่ผลกำไรส่วนตัวแล้วทำร้ายประเทศไทยและคนไทยต่อไปด้วยผลิตภัณฑ์บุหรี่และยาสูบอีกเลย

ด้าน ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธาน สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า การรวมตัวกันของผู้ป่วยกลุ่มนี้จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากยาสูบ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้แก่ผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่และยังไม่อยากเลิกสูบว่า  พวกเขาเหล่านั้นและญาติๆของเขาจะต้องประสบพบกับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสเกินที่จะบรรยายได้ในอนาคต ชีวิตและครอบครัวพังทลาย หากยังคงเสพผลิตภัณฑ์ยาสูบอย่างไม่ลืมหูลืมตา นอกจากนี้ “เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากบุหรี่และยาสูบ” ยังเป็นหลักฐานที่สำคัญต่อสังคมในการเรียกร้องไปยังรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องว่า ประเทศไทยในขณะนี้ เรามีเหยื่อที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่และยาสูบทุกประเภทมากพอแล้ว ถึงเวลาที่รัฐจะต้องออกมาปกป้องเยาวชนไทยมิให้ตกเป็นเหยื่อรายต่อไปของบริษัทบุหรี่อีกด้วยการสนับสนุนกฏหมายควบคุมยาสูบฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด

ผศ.นพ.สุทัศน์  รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ประจำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  กล่าวว่า ผลกระทบจากการสูบบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับของตัวผู้สูบเอง ญาติพี่น้อง และประเทศชาติ ปัจจุบันคนไทยป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่และยาสูบ ปีละ 50,000 คน โดย 27% หรือ 13,500  คน จะเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี แต่ละปี ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาโรคเรื้อรังจากการสูบบุหรี่ที่รักษาอย่างไรก็ไม่หายนี้มากถึงเกือบ 200,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้กำไรมากถึงปีละ 3,000 ล้านบาทจากประเทศไทย นับเป็นโศกนาฏกรรมที่ใหญ่หลวงไม่น้อยของคนไทย ที่คนไทยอย่างเราๆทุกคนต้องกลับมาคิดและไม่ควรนิ่งดูดาย ในขณะนี้ โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งขาดทุนและขาดงบประมาณมากมายในการรองรับผู้ป่วยที่มีอยู่แล้ว อย่าให้ผู้ป่วยที่ล้นโรงพยาบาลทุกแห่งอยู่แล้วต้องล้นไปมากกว่านี้เลย

ผศ.นพ.สุทัศน์  กล่าวเพิ่มเติมว่า เราทุกคนควรหันมาร่วมกันสกัดกั้นมิให้มีผู้ป่วยรายต่อไปจากการสูบบุหรี่และยาสูบกันจะดีกว่า ด้วยการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ซึ่งจะเป็นการปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของคนไทย  โดยเฉพาะเยาวชน ให้พ้นจากเงื้อมมือของธุรกิจบาปเหล่านี้  มาตรการใหม่ ๆ ที่มีในกฎหมายฉบับนี้มีหลายอย่าง อาทิดช่น การห้ามแบ่งมวนขาย ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 88.3 ของเยาวชนไทยอายุ 15-17 ปี ซื้อบุหรี่ด้วยวิธีนี้ จนกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไทยติดบุหรี่  มาตรการนี้มิได้เป็นมาตรการที่เขียนหรือนึกกันขึ้นมาเอง แต่เป็นมาตรการที่มีการดำเนินการกันไปแล้วในกว่า 97 ประเทศทั่วโลกที่ได้ประกาศห้ามแบ่งมวนขายแล้ว กระทั่ง ในภูมิภาคนี้ก็มีในหลายประเทศ เช่น ลาว เมียนมาร์ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ก็ล้วนมีมาตรการห้ามแบ่งขายเช่นกัน เหลือแต่ประเทศไทยที่ยังไม่มี และก็มีความพยายามอย่างถึงที่สุดจากธุรกิจบาปเหล่านี้ในการสกัดกั้นมาตรการสำคัญนี้ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยและประเทศไทยจะลุกขึ้นแล้วบอกกับลูกหลานไทยว่า คนไทยจะไม่ขอเป็นคนไข้รายต่อไปจากการสูบบุหรี่และยาสูบด้วยการสนับสนุน พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่นี้.

 

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :

ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ประจำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  โทร.089-441-3959