“บริษัทบุหรี่ทำอะไร ให้เด็กติดบุหรี่ง่ายขึ้น”

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

ACTION ON SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่ 20 พฤษภาคม 2558

วันที่ข่าวตีพิมพ์  :  สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

“บริษัทบุหรี่ทำอะไร ให้เด็กติดบุหรี่ง่ายขึ้น”

 

                รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล   เปิดเผยรายงานของนายแพทย์ใหญ่ สหรัฐอเมริกา ในปี 2557   ที่พบว่าบุหรี่     ในปัจจุบันนี้ มีอันตรายมากยิ่งกว่าบุหรี่เมื่อ  ปีก่อน 50โดยรายงานดังกล่าวสรุปว่า

1.      ผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด และ โรคถุงลมปอดโป่งพองเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 50 ปีก่อน แม้จะสูบบุหรี่น้อยมวนกว่า อันเป็นผลจากการออกแบบและเพิ่มส่วนประกอบในบุหรี่ ทั้งนี้หลักฐานบ่งบอกชัดเจนว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำให้ผู้สูบเสพติดนิโคตินอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้สูบบุหรี่เลิกยากขึ้น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ที่จะเกิดโรคและเสียชีวิต

2.      บริษัทบุหรี่ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดนักสูบหน้าใหม่ ทำให้เกิดการเสพติดยั่งยืน 

หลักฐานจากเอกสารลับของบริษัทบุหรี่ ที่ถูกเปิดเผยโดยศาลในสหรัฐอเมริกา  แสดงให้เห็นว่า บุหรี่ได้รับการออกแบบด้วยวิศวกรรมชั้นสูง ทำให้สูบง่าย  บริษัทบุหรี่รู้ดีว่านักสูบหน้าใหม่เกือบทั้งหมด เริ่มเกิดการเสพติดขณะเป็นเยาวชน และโดยปกติการสูดควันบุหรี่ไม่ใช่สิ่งที่น่าภิรมย์นักสำหรับนักสูบหน้าใหม่ บริษัทบุหรี่จึงออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างระมัดระวังเพื่อให้สินค้ามีความเย้ายวน โดยบริษัทได้ลงทุนมหาศาลในการวิจัยและออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้แน่ใจว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้ ผลก็คือนอกจาก ทำให้บุหรี่สูบง่ายแล้ว บุหรี่ยิ่งมีอันตรายเพิ่มขึ้นอีกด้วย

3.      ในส่วนของการตลาด บริษัทบุหรี่ใช้งบประมาณ 8.8 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หรือ หนึ่งล้านดอลลาร์ ต่อชั่วโมง (32 ล้านบาท/ชั่วโมง) ในการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ยาสูบ

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวเพิ่มเติมว่า ประมาณการว่าทั่วโลกมีเด็กและเยาวชนติดบุหรี่ใหม่วันละ 82,000 – 99,000  คน (Curbing the Epidemic 1999)   โดยในประเทศไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ติดบุหรี่แล้ว 4 แสนคน (พ.ศ.2554)  โดยมีเด็กไทยติดบุหรี่ใหม่ปีละ 200,000 คน (สนง.สถิติแห่งชาติ)  ขณะที่มีเด็กอีกนับสิบล้านคนที่บริษัทบุหรี่กำลังมองด้วยสายตาเป็นมัน เล็งไว้เป็นกลุ่มเป้าหมาย  เพื่อทดแทนผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบหรือเสียชีวิต  จากเอกสารลับของบริษัทบุหรี่ ที่ถูกเปิดเผยโดยศาลสูงของสหรัฐ บริษัทบุหรี่กล่าวถึงเยาวชนไว้ว่า “มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ (บริษัท) จะต้องรู้ให้ลึกซึ้งที่สุด   ถึงแบบแผนและทัศนคติของเยาวชน ต่อการสูบบุหรี่ เยาวชนในวันนี้ คือลูกค้าประจำคนสำคัญของเราในวันพรุ่งนี้”

            ด้าน ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า       การสูบบุหรี่เพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย  ทำให้คนจนยิ่งยากจนเพิ่มขึ้น  โดยข้อมูลสำรวจในปี พ.ศ.2554  คนไทยที่ยากจนที่สุดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 2,189  บาท  เสียเงินซื้อบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน 548  บาทต่อเดือน    และคนไทยฐานะยากจนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 6,279  บาท เสียเงินซื้อบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน 507  บาท         ต่อเดือน  ขณะที่เด็กอายุ 15-18 ปี 4 แสนคน  เสียเงินค่าซื้อบุหรี่ 383  บาทต่อเดือน การเสียเงินที่มีน้อยอยู่แล้วไปกับการซื้อบุหรี่  ทำให้ครอบครัวไม่มีเงินที่จะใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นอื่น ๆ  นำมาซึ่งปัญหาสังคมอื่น ๆ อีกมากมาย        และเมื่อผู้สูบบุหรี่ที่ยากจนเหล่านี้ ซึ่งเป็นเพศชายเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลา  ก็ยิ่งทำให้ครอบครัวยากลำบากยิ่งขึ้น  โดยในปี พ.ศ.2554 จำนวนผู้สูบบุหรี่ที่จัดอยู่ในฐานะยากจนที่สุดมี 2.70  ล้านคน  และที่ฐานะยากจน 2.76  ล้านคน      ที่ประมาณครึ่งหนึ่งสูบบุหรี่ซองที่ผลิตจากโรงงานและที่เหลือสูบยาเส้นหรือสูบทั้งสองอย่าง     การควบคุมยาสูบจึงเป็นการแก้ปัญหาความยากจนด้วย  สำหรับข้อมูลล่าสุดของ พ.ศ.2557  พบว่าประชากรกลุ่มที่ยากจนที่สุด และที่ยากจนมี 3.1 ล้านคนที่สูบบุหรี่  และเสียค่าซื้อบุหรี่ไป 7,674  ล้านบาทต่อปี

            ในขณะที่ นายธาดา  วรรธนปิยกุล ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย  มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัยกล่าวว่า  ในฐานะองค์กรที่ทำงานขับเคลื่อนด้านสุขภาพ และการสร้างสังคมสุขภาวะหน่วยงานหนึ่งในระดับพื้นที่ ซึ่งหมออนามัยทั่วประเทศ มีประมาณ 50,000 คน มีหน้าที่ดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ โรคอัมพาตโรคปอดเรื้อรัง  โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน ซึ่งมีการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุร่วม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นของพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ ซึ่งหากมีผลบังคับใช้ หมออนามัยทั่วประเทศจะสามารถทำงานและขับเคลื่อนการควบคุมการบริโภคยาสูบระดับจังหวัด สร้างให้เกิดกระบวนการ การมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ต่าง ๆ   ทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อลดจำนวนคนไทยที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่เกิดจากการสูบบุหรี่ พวกเราหมออนามัยทุกคน ขอเป็น 50,000  แรงในการเชิญชวนประชาชนคนไทยร่วมกันแสดงพลังมุ่งสู่  10  ล้านเสียง เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่   โดย ณ ขณะนี้รายชื่อที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนมี จำนวน  628,558 คน  ซึ่งคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายก่อนวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมที่จะมาถึงสิ้นเดือนนี้

 

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ โทร. 0-2278-1828 / 08-1822-9799

รศ.นพ.สุริยเดว  ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

โทร. 086-777-8184

นายธาดา  วรรธนปิยกุล  ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย  โทร.081-977-5095