ยันกฎหมายบุหรี่ใหม่ชอบธรรม

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่ 27 มิถุนายน 2558

วันที่ข่าวตีพิมพ์  :  สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

 

 ยันกฎหมายบุหรี่ใหม่ชอบธรรม

   ดร.เอื้ออารีย์  อิ้งจะนิล  อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่มีการแถลงข่าวโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพมากเกินจำเป็น ขอยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ไม่ได้จำกัดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศว่ารัฐสามารถออกมาตรการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนได้ถ้าเป็นการจำกัดสิทธิที่ได้สัดส่วน จำเป็นและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งมาตรการที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแต่ละมาตรการล้วนแต่มีความชอบธรรมและไม่เกินกว่าสัดส่วนความเสียหายที่สินค้ายาสูบก่อให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย  ทั้งนี้ อนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ระบุว่าบุหรี่เป็นสินค้าเสพติด ที่ทำให้ครึ่งหนึ่งของผู้สูบบุหรี่ระยะยาวเสียชีวิตก่อนเวลา ปีละ 6 ล้านคน  โดยในส่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 5 หมื่นกว่าคน  แต่ละคนป่วยหนักเป็นเวลา 2 ปี ก่อนเสียชีวิต และขณะเสียชีวิตมีอายุสั้นกว่าที่ควร คนละ 12 ปี  รวมทั้งความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ ค่าสูญเสียรายได้จากการป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลา ปีละไม่ต่ำกว่า 52,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่ามหาศาล และไม่รวมถึงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยและครอบครัวจากการสูบบุหรี่ รวมถึงมูลค่าของชีวิตที่สั้นลงจากการตายก่อนเวลา ซ้ำในแต่ละปียังมีผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ ซึ่งเป็นเยาวชนปีละ 2 แสนคน ในขณะที่บริษัทบุหรี่มีกำไรในประเทศไทยปีละ 10,000 ล้านบาท  ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบซึ่งมาตรการ ต่าง ๆ ล้วนนำมาจากข้อกำหนดของอนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ จึงมีความจำเป็น แม้อาจจะทำให้ผลกำไรของบริษัทบุหรี่ลดลงบ้าง  แต่ก็ไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่เกินสัดส่วน  เนื่องจากบริษัทบุหรี่ก็ยังคงมีกำไรมหาศาล บนความสูญเสียของสังคมไทยทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ  ดร.เอื้ออารีย์ กล่าวในตอนท้ายว่า “เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงสาธารณสุข ประเทศอินเดีย  สั่งให้เก็บสินค้าบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่งจากตลาดทั้งหมดในประเทศอินเดีย  ภายหลังจากที่สุ่มตรวจพบว่า มีสารตะกั่วในระดับที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด  ซึ่งหากนำมาตรฐานนี้มาใช้กับสินค้าบุหรี่  กฎหมายจะต้องห้ามขายทันที  ไม่ใช่เพียงแต่การจำกัดมาตรการทางการตลาดดังบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เนื่องจากบุหรี่มีสารพิษถึง 250 ชนิด และมีสารก่อมะเร็งถึง 70 ชนิด ตามคำประกาศของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา”

 

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :  ดร.เอื้ออารีย์  อิ้งจะนิล โทร. 087-323-9873