เสนอรัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่โปะคลัง
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 28 ตุลาคม 2558
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
เสนอรัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่โปะคลัง
เสนอรัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่เพื่อหารายได้เพิ่ม สำหรับใช้จ่ายในด้านรัฐสวัสดิการรวมทั้งการดูแลด้านสาธารณสุขให้กับประชาชนตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การขึ้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย จะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นปีละเกินหมื่นล้านบาททันที และโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการครองชีพ และทำลายสุขภาพอย่างยาสูบ นอกจากจะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นทันทีปีละหลายพันล้านบาทแล้ว การขึ้นภาษียาสูบยังเป็นมาตรการลดการสูบบุหรี่ที่ดีที่สุด โดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่ที่ฐานะยากจนจะสูบน้อยลง และจำนวนหนึ่งจะหยุดสูบ รวมทั้งเยาวชนซึ่งมีกำลังซื้อน้อยจะเข้ามาติดบุหรี่น้อยลงด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้สูบบุหรี่ที่ฐานะยากจน เนื่องจากการที่คนจนเลิกสูบบุหรี่ได้ จะทำให้สามารถนำเงินค่าบุหรี่ไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นอื่น ขณะที่สุขภาพดีขึ้น และเนื่องจากการขึ้นภาษีแต่ละครั้ง ทำให้ราคาบุหรี่แพงขึ้นเพียงซองละไม่กี่บาท ผู้สูบบุหรี่ที่มีรายได้ปานกลางและสูง ยังคงสูบบุหรี่เท่าเดิมต่อไป อันเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ในอีกทางหนึ่งการที่คนสูบบุหรี่น้อยลง ยังลดภาระที่รัฐบาลต้องเสียงบประมาณในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งล้วนเป็นโรคที่ค่าใช้จ่ายการรักษาสูงทั้งสิ้นด้วย การขึ้นภาษียาสูบจึงได้ผลดีสองต่อคือทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น และชะลอการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ทั้งนี้การขึ้นภาษียาสูบครั้งสุดท้ายมีขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555 มีผลทำให้รัฐเก็บภาษียาสูบได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละหกพันล้านบาทในสามปีที่ผ่านมา จากที่เก็บได้ 57,1963 ล้านบาทในปี พ.ศ.2554 เป็นเฉลี่ยปีละ 63,865 ล้านบาทสำหรับปี 2556, 2557 และ 2558 ที่สำคัญการติดตามผลการขึ้นภาษีครั้งสุดท้ายในการที่จะลดการสูบบุหรี่ได้หมดไปแล้ว ภายหลังการขึ้นภาษีได้เพียงหกเดือน จากการที่ผู้สูบบุหรี่หันไปสูบบุหรี่ยี่ห้อที่ราคาถูกลง และบริษัทบุหรี่ผลิตบุหรี่ที่มีน้ำหนักต่อมวนน้อยลง เพื่อลดภาระภาษีที่เก็บตามน้ำหนัก ซึ่งที่ถูกแล้วรัฐบาลควรที่จะขึ้นภาษีอีกตั้งแต่ พ.ศ.2556 แล้วด้วยซ้ำ เพราะการทิ้งช่วงการขึ้นภาษีส่งผลเสียทั้งต่อรายได้รัฐบาลและสุขภาพของประชาชน
ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้สรุปประโยชน์ของภาษีบุหรี่ไว้สิบข้อดังนี้
- การขึ้นภาษีและราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และคุ้มค่าที่สุดในการลดการ สูบบุหรี่
- ราคาบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นจากการขึ้นภาษีทำให้ความสามารถในการซื้อบุหรี่ลดลง ทำให้สูบน้อยลงและทำให้คุณภาพชีวิตของประชากรดีขึ้น
- โดยเฉลี่ยราคาบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น 10% จะลดการบริโภคยาสูบลง 4% ในประเทศที่มีรายได้สูง และ 5% ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
- ปริมาณการสูบบุหรี่ที่ลดลงจากการขึ้นภาษี ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผลจากจำนวนมวนบุหรี่ที่สูบลดลง และอีกครึ่งหนึ่งจากการที่ผู้สูบบุหรี่ส่วนหนึ่งเลิกสูบ
- ผู้สูบบุหรี่ที่มีรายได้น้อยและเยาวชนจะไวต่อการขึ้นภาษี โดยเฉพาะในเยาวชน การลดการสูบบุหรี่จะมากกว่าในผู้ใหญ่สองถึงสามเท่า
- นอกจากทำให้การสูบบุหรี่ลดลง และลดภาระ การเจ็บป่วยที่เกิดจากการสูบบุหรี่แล้ว รัฐบาลยังจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากจากการขึ้นภาษี
- แม้การขึ้นภาษีบุหรี่จะส่งผลกระทบต่อผู้สูบบุหรี่ ที่ยากจนมากกว่า แต่การสูบบุหรี่ที่ลดลงรวมทั้งการหยุดสูบ ทำให้ผู้สูบบุหรี่ที่ยากจนประหยัดเงินและสุขภาพดีขึ้น ลดช่องว่างระหว่างสุขภาพของคนจนกับประชากรกลุ่มอื่น ๆ
- บริษัทบุหรี่พยายามให้ข้อมูลว่า การขึ้นภาษียาสูบทำให้บุหรี่หนีภาษีเพิ่มขึ้น ข้อเท็จจริงคือแม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างของระดับภาษีระหว่างประเทศและบุหรี่หนีภาษี แต่ปัจจัยที่สำคัญกว่าที่ทำให้เกิดบุหรี่หนีภาษี คือระบบการควบคุมบุหรี่หนีภาษี ระดับคอรัปชั่น และการที่บริษัทบุหรี่อยู่เบื้องหลังสนับสนุนให้เกิดบุหรี่หนีภาษี
- ภาษีสรรพสามิตบุหรี่มีความสำคัญที่สุดในการบรรลุเป้าหมายสุขภาพที่ดีขึ้น เนื่องจากทำให้ยาสูบมีราคาสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าอื่น
- ในหลาย ๆ ประเทศมีโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบที่ซับซ้อน เปิดโอกาสให้บริษัทบุหรี่หลีกเลี่ยงหรือหนีภาษี ทำให้การขึ้นภาษีไม่ส่งผลในการทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้น ผลคือการขึ้นภาษีไม่ลดการบริโภค และรัฐบาลไม่ได้รับเงินจากภาษีเพิ่มขึ้น ประเทศต่าง ๆ ควรทำให้ระบบภาษีสรรพสามิตไม่ซับซ้อนเพื่อให้มาตรการทางภาษีเกิดประโยชน์สูงสุด
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ โทร. 081-822-9799