หนุนคุมยาสูบแก้ปัญหายาเสพติด

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558

วันที่ข่าวตีพิมพ์  :  สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

 

หนุนคุมยาสูบแก้ปัญหายาเสพติด

 

ภาคียาสูบหนุน (ร่าง) ประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่เสนอโดยพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช. ในขณะนี้ พร้อมเสนอให้เร่งควบคุมยาสูบเพราะบุหรี่เป็นยาเสพติดชนิดแรกที่เยาวชนใช้ ก่อนที่จะก้าวไปสู่เหล้าและยาเสพติดชนิดร้ายแรงอื่น ๆ หากจะแก้ปัญหายาเสพติดต้องควบคุมยาสูบให้ได้ก่อน 
นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ประธานกรรมการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้จัดประชุมวิสามัญกรรมการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อพิจารณาการดำเนินงานด้านการควบคุมยาสูบ ให้สอดรับและสนับสนุนให้ สนช. ผ่าน (ร่าง)ประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม
              นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า (ร่าง) ประมวลกฎหมายยาเสพติดนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการแก้ปัญหายาเสพติดระดับองค์รวมที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง และสนับสนุนให้รัฐบาลแก้ปัญหายาเสพติดด้วยการเร่งรัดการควบคุมยาสูบของประเทศไทยควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นจุดเริ่มต้นของการติดยาเสพติดชนิดอื่นที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กและเยาวชน  เนื่องจากในบุหรี่มีสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดที่ร้ายแรงที่ทำให้คนที่สูบบุหรี่ติดแล้วเลิกบุหรี่ได้ยาก
              โดยสถิติพบว่าในเด็กไทย  10  คน  ที่ติดบุหรี่  7  คน  จะติดไปตลอดชีวิต  และการสำรวจพบว่าในเยาวชนที่สูบบุหรี่  มีสถิติการใช้ยาเสพติดอย่างอื่นมากกว่า  เยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง  10  เท่า  ทั้งนี้การสำรวจล่าสุดพบว่ามีเยาวชน อายุ 15-18  ปี  ติดบุหรี่ 3  แสน 5 หมื่นคน  และอายุ 19-24  ปี  หนึ่งล้านคน  และเป็นผู้ที่ติดบุหรี่ใหม่ 2 แสนคน  การป้องกันเยาวชนไม่ให้เสพติดบุหรี่  จึงมีความสำคัญมากในการลดปัญหายาเสพติด  ตามเจตนารมณ์ของ (ร่าง) ประมวลกฎหมายยาเสพติด 
              นายพงษ์ศักดิ์ แถลงเพิ่มเติมว่า มาตรการเร่งด่วนที่เสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการ  มีดังนี้
  1. การขึ้นภาษียาสูบ  เพื่อทำให้เยาวชนเข้าถึงยาสูบน้อยลง 
  2. สนับสนุนให้ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุขให้ผ่านออกมาเป็นกฎหมายโดยเร็ว  ซึ่งขณะนี้มีเสียงสนับสนุนถึง 15 ล้านคน จากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งกฎหมายใหม่มีมาตรการที่ทำให้เยาวชนเข้าถึงสินค้ายาสูบยากขึ้น  เช่น  การเพิ่มอายุที่จะซื้อบุหรี่ได้ จาก 18  ปี  เป็น 20  ปี                การห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวน  และมาตรการซองบุหรี่แบบเรียบ  ที่ห้ามพิมพ์ลวดลาย สีสัน หรือ          โลโก้บนซองบุหรี่  เพื่อลดความเย้ายวนของซองบุหรี่ต่อเยาวชน
  3. รัฐบาลควรจะเร่งรัดการให้บริการรักษาเยาวชนที่ติดบุหรี่  ด้วยการกำหนดให้ยารักษาการเลิกบุหรี่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของประกันสุขภาพ  ทั้ง 30  บาท รักษาทุกโรค  ประกันสังคม  และสิทธิรักษาพยาบาลของราชการ
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :  มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่    โทร. 0-2278-1828