เสนอรัฐขึ้นภาษียาสูบเพื่อลดคนตายจากมะเร็ง

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559

วันที่ข่าวตีพิมพ์  :  สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

 

เสนอรัฐขึ้นภาษียาสูบเพื่อลดคนตายจากมะเร็ง

 

            ในโอกาสวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์  ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เปิดเผยรายงานที่  ศาสตราจารย์ประบาท จหา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสุขภาพโลก มหาวิทยาลัยโตรอนโต ประเทศแคนาดาและคณะ  ได้เผยแพร่ผลการศึกษาถึงความเป็นไปได้และความคุ้มค่าของการควบคุมมะเร็งในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อย  ในวารสารแลนเซท เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา  สรุปว่าการแก้ปัญหามะเร็งที่สำคัญที่สุดคือการช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และการป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่  ร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีที่เป็นสาเหตุของมะเร็งตับ  และวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีที่ป้องกันมะเร็งปากมดลูก  ส่วนสาเหตุของมะเร็งชนิดอื่น ๆ การป้องกันทำได้ยาก และการขึ้นภาษียาสูบเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการลดโรคมะเร็ง

            ศ.นพ.ประกิต  กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยยังสูงถึงร้อยละ 40 ทุก ๆ วันมีคนไทยกว่า 11 ล้านคนที่สูบบุหรี่ และโดยเฉลี่ยสูบ 10 มวนต่อคนต่อวัน ซึ่งบุหรี่แต่ละมวนจะมีการสูดควัน 10 ครั้ง   ซึ่งหมายถึงผู้สูบบุหรี่แต่ละคนจะมีการสูดสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกายวันละ 100  ครั้ง  ทำให้แต่ละปีมีคนไทยป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งที่เกิดจากการสูบบุหรี่  โดยเป็นมะเร็งปอด 11,740  คน  และมะเร็งในอวัยวะอื่น ๆ 7,244  คน  รวมแล้วเท่ากับ 18,984  คน  โดยในบุหรี่มีสารก่อมะเร็ง 70 ชนิด เมื่อสูบบุหรี่สารก่อมะเร็งจะถูกพาไปสัมผัสกับอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย  ทำให้เกิดมะเร็งถึง 12 อวัยวะ  ตั้งแต่ช่องปาก ลำคอและกล่องเสียง  หลอดลมและปอด  ที่สัมผัสกับสารก่อมะเร็งในควันบุหรี่โดยตรง  ขณะที่มะเร็งหลอดอาหาร  กระเพาะอาหาร  ลำไส้ใหญ่  เกิดจากการกลืนสารก่อมะเร็งลงท้องจนขับออกทางอุจจาระ  ส่วนกรณีมะเร็งเม็ดเลือดขาว  ตับ ตับอ่อน และปากมดลูก  สัมผัสสารก่อมะเร็งที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด  ส่วนไตและกระเพาะปัสสาวะ  เป็นมะเร็งเพราะสัมผัสสารก่อมะเร็งที่ถูกขับออกทางปัสสาวะ ทั้งนี้โอกาสเกิดมะเร็งจากการสูบบุหรี่  สัมพันธ์กับจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันและระยะเวลาที่สูบบุหรี่มาแล้ว  ในขณะที่การได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบสามารถทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ และการเลิกสูบบุหรี่จะลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง

ทั้งนี้การขึ้นภาษียาสูบที่สามารถลดการสูบบุหรี่ได้มากที่สุด  ภาษียาสูบบางครั้งจึงถูกเรียกว่าเป็นภาษีต่อต้านมะเร็ง (anticancer tax)  และประเทศไทยมีการขึ้นภาษียาสูบครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555  การที่ไม่มีการขึ้นภาษีทำให้การบริโภคยาสูบปี พ.ศ.2558  มีปริมาณเพิ่มขึ้น  นั่นหมายความว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้น  ซึ่งจะเพิ่มภาระงบประมาณของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค 

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :  มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่    โทร. 0-2278-1828