มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 22 สิงหาคม 2559
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
กองทัพภาคที่ 3 ผนึกกำลังสถานีวิทยุกระจายเสียง 24 สถานี ร่วมปกป้องเด็ก Gen Z
กองทัพภาคที่ 3 และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการดำเนินงานกิจการวิทยุกระจายเสียงกองทัพบกที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดสัมมนาสื่อมวลชนในกลุ่มสถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบกที่ 3 เรื่อง ร่วมกันสร้างสังคมปลอดบุหรี่ & ร่วมสร้าง Generation Z ไม่สูบ ในวันที่ 22-23 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมวังจันทน์ ริเวอร์วิว อ.เมือง จ.พิษณุโลก
พ.อ.จรินทร์รัตน์ นาคสนิท รองประธานคณะกรรมการดำเนินงานกิจการวิทยุกระจายเสียง กองทัพบกที่ 3 กล่าวว่า กองทัพภาคที่ 3 มีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการดำเนินงานกิจการวิทยุกระจายเสียงกองทัพบกที่ 3 ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ดูแลการจัดและผลิตรายการให้กับสถานีวิทยุของกองทัพบกจำนวน 24 สถานีใน 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นหน่วยงานที่จะช่วยสื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และร่วมปกป้องเด็ก ๆ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการเสพติดบุหรี่ เพราะหากเด็ก ๆ เริ่มสูบบุหรี่ก็มีโอกาสที่จะใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งพฤติกรรมอบายมุขอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับประเทศชาติตามมา
ดร.ศรัณญา เบญจกุล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลการสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์การบริโภคยาสูบของคนไทย พบว่าในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2534 – 2558) จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.2 ล้านคนในปี 2534 เป็น 10.9 ล้านคนในปี 2558 โดยอัตราสูบในเพศชาย 39.9% และเพศหญิง 1.8% การสำรวจในปี พ.ศ.2558 พบว่า ในภาคเหนือ มีผู้สูบบุหรี่ 1.7 ล้านคน รวมแล้วคิดเป็นค่าสูบบุหรี่ที่เสียไปเท่ากับ 399.84 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 4,798 ล้านบาทในปี 2557 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 42,528 คน โดยตามสถิติแล้วผู้ที่ไม่สามารถเลิกสูบได้ ครึ่งหนึ่งจะเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสูบบุหรี่ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุข โดยเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาที่สำคัญลำดับที่สองของคนไทย ปีละห้าหมื่นกว่าคน มาตรการที่สำคัญในการทำให้การสูบบุหรี่ลดลง คือ การสกัดเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าสู่วงจรของการเสพติดบุหรี่ เพราะเมื่อเริ่มสูบและติดแล้ว มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่สามารถเลิกได้ อีกร้อยละ 70 จะติดไปจนตลอดชีวิต ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังร่วมกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ซึ่งจะมีความเข้มแข็งกว่าฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยสาระสำคัญ คือมาตรการต่าง ๆ ที่จะทำให้เด็กเข้าถึงบุหรี่ยากขึ้น เช่น การห้ามแบ่งซองขาย ห้ามขายในสถานที่ต่าง ๆ ที่เยาวชนทำกิจกรรม ห้ามบริษัทบุหรี่โฆษณาและส่งเสริมการขายด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้น สื่อมวลชนจึงมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายนี้ เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต
การจัดสัมมนาสื่อมวลชนในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สื่อมวลชนในพื้นที่จะได้รับทราบข้อมูลสำคัญด้านการควบคุมยาสูบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ เพื่อนำไปเผยแพร่ให้แก่ประชาชนได้ตระหนักถึงอันตรายจากการสูบบุหรี่ เพื่อสร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมถึงปกป้องเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ และช่วยสร้างความเข้าใจว่า (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ ไม่ส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ
ผู้เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้เป็นสื่อมวลชน 50 คน ซึ่งเป็นผู้แทนจากสถานีวิทยุกระจายเสียง กองทัพภาคที่ 3 จาก 15 จังหวัด ได้แก่ จากจังหวัดพิษณุโลก พะเยา ลำพูน ลำปาง สุโขทัย น่าน กำแพงเพชร ตาก เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุตรดิตถ์ ทั้งนี้ จากการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณวัลภา แก้วศรี โทร. 0-2278-1828