วอนไม่สูบให้เด็กเห็น สกัดเด็กติดบุหรี่
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 16 กันยายน 2559
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
วอนไม่สูบให้เด็กเห็น สกัดเด็กติดบุหรี่
ในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ 20 กันยายน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เรียกร้องให้ผู้สูบบุหรี่ทุกคนไม่สูบบุหรี่ในทุกที่ที่มีเด็ก และเยาวชนอยู่ด้วย เพื่อลดโอกาสการเสพติดบุหรี่ของเยาวชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันเยาวชนจากการติดยาเสพติด สุรา และอบายมุขอื่น เช่น การเที่ยวกลางคืน และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร นอกเหนือจากผลเสียต่อสุขภาพที่การสูบบุหรี่ของวัยรุ่น จะทำให้สุขภาพไม่สมบูรณ์เท่าวัยรุ่นที่ไม่สูบบุหรี่ ทำให้ปอดพัฒนาไม่เต็มที่ ออกกำลังกายได้น้อยกว่าวัยรุ่นที่ไม่สูบบุหรี่ มีอาการทางระบบทางเดินหายใจมากกว่า เช่น ไอ เหนื่อยง่าย
โดยรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า วัยรุ่นที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน มีโอกาสติดบุหรี่เพิ่มขึ้น 1.4 ถึง 2.1 เท่า และวัยรุ่นที่ได้รับควันบุหรี่มือสองที่อื่นนอกบ้าน มีโอกาสติดบุหรี่เพิ่มขึ้น 1.3 เท่า ถึง 1.8 เท่าของวัยรุ่นที่ไม่ได้รับควันบุหรี่มือสอง
หลักฐานยังพบว่า การสูบบุหรี่ของพ่อแม่เพิ่มความเสี่ยงที่ลูกจะติดบุหรี่ โดยเฉพาะหากพ่อแม่สูบบุหรี่ในบ้าน และการไม่สูบบุหรี่ในบ้านลดโอกาสที่ลูกจะเสพติดบุหรี่
รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวว่า การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในปี พ.ศ.2557 มีนักสูบหน้าใหม่เกิดขึ้น 2 แสนคน โดยหนึ่งแสนคนติดบุหรี่ก่อนอายุ 17 ปี และ 9 ใน 10 คนที่ติดบุหรี่ใหม่ติดก่อนอายุ 24 ปี ซึ่งตามสถิติเด็กไทยที่ติดบุหรี่ 7 ใน 10 คนจะติดไปตลอดชีวิต และใน 3 คนที่เลิกสูบได้ โดยเฉลี่ยต้องใช้เวลา 22 ปี ทุกฝ่ายในสังคมจึงต้องร่วมมือกันในการลดนักสูบหน้าใหม่ โดยนอกจากพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ไม่สูบบุหรี่แล้ว หากยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ ก็ต้องไม่สูบในบ้าน และพยายามไม่สูบให้ลูกเห็น และบ้านที่สองของเด็กและเยาวชนคือโรงเรียน และสถานศึกษาทุกระดับ บุคลากรโรงเรียนและสถานศึกษาทุกระดับทุกคนโดยเฉพาะผู้บริหารและครูอาจารย์ก็ต้องเป็นแบบอย่างโดยปฏิบัติตามกฎหมายที่ห้ามสูบบุหรี่ในโรงเรียน รวมถึงมหาวิทยาลัย ส่วนในสังคมวงกว้าง ผู้สูบบุหรี่ทุกคนก็ต้องร่วมกันป้องกันเด็ก และเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ โดยไม่สูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะที่กฎหมายห้ามสูบ โดยเฉพาะสถานที่สาธารณะที่มีเด็กและเยาวชนอยู่ด้วย
ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทร. 0-2278-1828