คอลัมน์เก็บมาฝาก
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ มูลนิธิเพื่อนหญิง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จัดแถลงข่าว "งานวิจัย : สูบบุหรี่ในบ้าน มหันตภัยสารพิษสู่ลูกน้อย" ซึ่งเปิดเผย "งานวิจัยการตรวจพบสารพิษในปัสสาวะเด็กที่มีคนสูบบุหรี่ในบ้าน" "งานวิจัยสูบบุหรี่ในบ้านทำให้เด็กในบ้านป่วย" "งานวิจัยการได้รับควันบุหรี่มือสองของหญิงตั้งครรภ์" "ผลการสำรวจถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ในบ้านกับการสูบบุหรี่ของวัยรุ่น"
และเนื่องในวันที่ 12 สิงหาคมนี้ ซึ่งตรงกับวันแม่แห่งชาติ เครือข่ายแม่หญิงจึงได้ใช้เวทีนี้เรียกร้องให้พ่อบ้านไม่สูบบุหรี่ในบ้าน หรือเลิกสูบเพื่อลูกน้อยที่กำลังจะเกิด ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์ฯ ได้เปิดเผยว่า การสูบบุหรี่ในบ้าน จะส่งผลให้สารพิษในควันบุหรี่ถูกดูดซืมเข้าสู่กระแสเลือด และจะไหลเวียนไปยังทุกอวัยวะของร่างกายในเวลาอันรวดเร็ว สารพิษเหล่านี้ส่งผ่านไปถึงทารกในครรภ์ สารก่อมะเร็งถูกพาไปสัมผัสกับทุกอวัยวะ เป็นเหตุให้หลอดเลือดเสื่อม เกิดโรคกับอวัยวะทั่วร่างกาย รวมถึงมะเร็ง 12 ชนิด
พญ.ปองทอง ปูรานิธี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยถึง การตรวจปัสสาวะในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่จำนวน 75 ครอบครัว พบว่า 57 ครอบครัว ตรวจพบสารพิษจากควันบุหรี่ (โคตินิน) โดยในเด็กที่อาศัยอยู่ใน คอนโดมิเนียม อพาร์ตเม้นท์ และแฟลต มีสารพิษในปัสสาวะสูงกว่าเด็กที่อยู่ในบ้านและทาวเฮ้าส์ ถึงสองเท่า
พญ.นัยนา ณีศะนันท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ทำการสำรวจผู้ปกครองที่พาเด็กมาตรวจรักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กฯ ระหว่างเดือน พ.ค. - ก.ย.2559 จำนวน 1,022 ครอบครัว พบว่า ร้อยละ 96 ของเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่บ้าน ร้อยละ 45.6 หรือ 456 ครอบครัวมีสมาชิกที่สูบบุหรี่ และในจำนวน 101 ครอบครัวหรือ 21.5% สูบบุหรี่ในบ้าน จะเห็นได้ว่า เด็กที่อยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ จะเกิดการเจ็บป่วยมากกว่าเด็กที่อยู่ในบ้านที่ไม่มีการสูบบุหรี่อย่างเห็นได้ชัดเจน
ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ ภาควิชาอนามัยชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก ได้สำรวจหญิงตั้งครรภ์ในอำเภอโกรกพระ จ.นครสวรรค์ จำนวน 115 คน พบว่า สถานที่ที่ได้รับควันบุหรี่ 54.3% จากตลาด และ 48.7% ได้รับในบ้านของตนเอง
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงรายงานจากองค์การอนามัยโลก พบว่า วัยรุ่นที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน มีโอกาสติดบุหรี่เพิ่มขึ้น 1.4 ถึง 2.1 เท่า เมื่อเทียบกับวัยรุ่นที่ไม่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน
เนื่องในวโรกาสวันแม่แห่งชาิต 12 สิงหาคมที่จะถึงในอีกไม่กี่วันนี้ ขอเชิญชวนให้ร่วมกันทำบ้านปลอดบุหรี่ หรือไม่สูบบุหรี่ใกล้เด็กหรือหญิงตั้งครรภ์ เพื่อลูกหลานจะไม่ได้รับอันตรายจากสารพิษเหล่านั้น และเพื่อเป็นการป้องกันการสูบบุหรี่ในอนาคตอีกด้วย เพราะเด็กๆ ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ โอกาสที่จะกลายเป็นคนสูบบุหรี่ในอนาคตได้มาก ถ้าไม่อยากเห็นลูกหลานสูบบุหรี่ ลด ละ เลิกสูบบุหรี่เพื่อสุขภาพของตัวท่านเอง และคนในครอบครัวอันเป็นที่รัก .....
ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณชวาลา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม โทร.02 2781828
ข้อมูลโดย กองบรรณาธิการ วันที่ 9 สิงหาคม 2560