คอลัมน์:เก็บมาฝาก
การเปิดตัวบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2550 จนถึงวันนี้ มีรายงานว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่มีจำนวนลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ลดลงไม่มาก ได้มีข้อถกเถียงกันมาตลอดว่า "บุหรี่ไฟฟ้าช่วยหยุดการสูบบุหรี่ หรือล่อให้คนรุ่นใหม่ติดสารนิโคตินแทน เนื่องจากของเหลวที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้าจะมีนิโคตินผสมอยู่ เมื่อจุดด้วยความร้อนจากแบตเตอรี่ในตัวบุหรี่ของเหลวก็จะทำปฏิกิริยาเคมีเปลี่ยนเป็นควันขึ้นมาให้สูด ซึ่งนิโคตินเหลวเป็นอันตรายอย่างยิ่งหากถูกนำมาใช้แบบผิดที่ผิดทาง เช่น โดนผิวหนัง หรือฉีดเข้าไปในร่างกาย
บุหรี่ไฟฟ้าเสพติดเหมือนบุหรี่ธรรมดา สารที่ทำให้เกิดการเสพติดในบุหรี่ไฟฟ้าคือ สารนิโคตินเหลว ที่สกัดจากใบยาสูบหรือที่ได้จากการสังเคราะห์ขึ้น มีอำนาจการเสพติดเทียบเท่าเฮโรอีน นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารปรุงแต่งกลิ่น รส เช่นเดียวกับบุหรี่ธรรมดา แต่ใช้น้อยชนิดกว่าประมาณ 10-20 ชนิด เมื่อเทียบกับบุหรี่ธรรมดาที่มีสารปรุงแต่งกลิ่นรส นับร้อยชนิด และยังมีสารที่เติมเพื่อให้เกิดละอองไอน้ำอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า โดยนิสัยเด็กวัยรุ่นมีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ได้หลายแนวทาง เช่น การอาศัยอยู่กับคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือ คนที่ชอบใส่เสื้อผ้าที่มีสัญลักษณ์โลโก้บุหรี่ อีกทั้งปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้ามีการปรับรูปทรงเหมือนกับบุหรี่ธรรมดาด้วย นั่นคือสิ่งที่บริษัทบุหรี่ต้องการล่อให้เข้าไปติดที่สำคัญไม่ว่าจะสูบบุหรี่แบบไหนเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งนั้น
".....หากจะให้บริษัทเราอยู่รอด และก้าวหน้าต่อไป เราจะต้องช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่เป็นเยาวชนมาเป็นของเราในระยะยาว ดังนั้น ...เราจะต้องออกบุหรี่ยี่ห้อใหม่ๆ ให้มีรูปลักษณ์เย้ายวนใจผู้สูบบุหรี่อายุน้อยๆ ....." (เอกสารลับของบริษัทบุหรี่ อาร์เจ เรย์โนลด์)
รัฐบาลได้มีนโยบายให้กระทรวงพาณิชยกำหนด ห้ามการนำเข้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้า เข้ามาในราชอาณาจักรไทย หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสินค้ารวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้านั้นด้วย และห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และตัวยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า ผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย กรณีพบเห็นผู้ฝ่าฝืนแจ้งเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายได้เลย
ข้อมูลโดย กองบรรณาธิการ SMART Online