ผู้เชี่ยวชาญเผยบริษัทบุหรี่อยู่เบื้องหลังแผนล้มกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้าในไทย
แนะอย่าซ้ำรอยฟิลิปปินส์ อินโดฯ เจอปัญหาเด็กสูบพุ่งหลังเปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ควรเอาสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง บังคับใช้กฎหมายเข้มข้น ลดการเข้าถึงของเด็กได้จริง
เมื่อ 23 ม.ค. 67 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จัดงานเสวนา “เจาะลึก……เบื้องหลังบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักในเด็กไทย” ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ หลังการสำรวจล่าสุดพบอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กไทยสูงถึง 17.6% หรือเพิ่ม 5.3 เท่าระหว่างปี 2558-2565
ครูสุวิมล จันทร์เปรมปรุง เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เผยว่าปัจจุบันสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะพบเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ซ้ำพบมีการซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน ครูบางคนยังไม่รู้จัก ขาดความรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ผู้ปกครองบางคนยังเข้าใจผิดคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยจึงไม่ห้ามให้เด็กสูบ
“กรณีมีคนบางกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเปลี่ยนมาควบคุมโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการเข้าถึงของเด็ก เครือข่ายครูฯ เห็นว่าข้ออ้างนี้เป็นสิ่งที่บิดเบือนจากความจริง เพราะหากยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า จะยิ่งทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย เพราะเข้าใจว่าเมื่อถูกกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ ซ้ำจะยิ่งทำให้การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นทั้งร้านค้าใต้ดินและบนดิน ดังนั้นเครือข่ายครูฯ จึงมีความเห็นว่ารัฐบาลควรจะคงมาตรการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป แต่เพิ่มความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมาย และเร่งให้ความรู้กับเด็ก ครู และผู้ปกครอง” ครูสุวิมลกล่าว
นางสาวบังอร ฤทธิภักดี เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในหมู่เด็กและเยาวชนเป็นปัญหาหนักของทั่วโลก รวมทั้งประเทศในอาเซียน สาเหตุหลักคือผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ มุ่งเป้าเพื่อดึงดูดเด็ก เน้นขายออนไลน์ เมื่อบวกกับมีคลิปเผยแพร่วิธีการสูบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทาง TikTok ทำให้การระบาดในเด็กขยายไปเร็วมาก เพราะเด็กคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย
“ประเทศที่เปิดให้บุหรี่ไฟฟ้าขายอย่างถูกกฎหมาย เช่น อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ตอนนี้การระบาดในเด็กและเยาวชนหนักมาก งานวิจัยในอินโดนีเซียพบว่า เยาวชน 49% ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่ในฟิลิปปินส์ มีร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ถึงกว่า 16,000 ร้าน ในทางตรงข้าม สิงค์โปร์ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่มีการบังคับใช้กฎหมายที่ดีมาก ทุกหน่วยงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ และจับปรับจริง บวกกับการรณรงค์ทาง Social media ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย สอดคล้องกับคำแนะนำองค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่า มาตรการที่จำเป็นที่สุดในการปกป้องเด็กจากบุหรี่ไฟฟ้าคือ การห้ามขาย ดังนั้นประเทศไทยมาถูกทางแล้ว แต่เราต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเข้มแข็ง” นางสาวบังอร กล่าว
ด้าน รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยว่าบริษัทบุหรี่กำลังวิ่งเต้นอย่างหนักเพื่อต้องการให้ประเทศไทยเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้ โดยเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยมักจะยกอังกฤษมาเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลไทยเอาอย่าง แต่ล่าสุดมีการเปิดเผยโดยนักข่าวสายสืบสวนของ Time of London ว่า นโยบายบุหรี่ไฟฟ้าของอังกฤษอาจจะเกิดจากการแทรกแซงโดยบริษัทบุหรี่ โดยพบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มแพทย์ และนักวิชาการอังกฤษที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากับบริษัทบุหรี่ เช่น ให้ทุนงานวิจัยเพื่อสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าและเบี่ยงเบนผลกระทบต่อเด็ก ล็อบบี้นักการเมืองในรัฐสภาอังกฤษ สนับสนุนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้อ้างเรื่องสิทธิการสูบ และโจมตีข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก
“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ซ้ำรอยกับที่อังกฤษโดยเฉพาะพบว่ามีการวิ่งเต้นนักการเมือง ส่งคนที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในสภาผู้แทนราษฎร โดยคนกลุ่มนี้อ้างตัวเป็นกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เรียกร้องสิทธิการสูบ และมักอ้างข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรให้คุณค่ากับคนกลุ่มนี้เพราะทำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่คำนึงผลกระทบที่จะเกิดกับสังคม” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
ด้านนายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวย้ำว่า สสส. ยังคงจุดเดิมคือ ไม่สนับสนุนสิ่งที่ทำลายสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นภัยคุกคามใหม่ในเด็กและเยาวชน สสส. สนับสนุนให้รัฐบาลคงกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าเพราะเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการป้องกันการเข้าถึงของเด็ก และจะสานต่อความร่วมมือกับทุกภาคส่วนต่าง ๆ ในการสื่อสารรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูล/ข้อเท็จจริงของอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า/ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ทำให้สังคมรู้เท่าทันกลยุทธ์อุตสาหกรรมยาสูบ และการเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน