คอลัมน์ : อปท.ปลอดบุหรี่
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้จัดอบรมผ่านระบบออนไลน์ ZOOM เรื่อง การพัฒนาทักษะการเฝ้าระวังและการบังคับใช้กกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยกลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กับ อปท. 11 พื้นที่ ประกอบด้วย รูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 4 แห่ง อบต.น้ำผุด จ.ตรัง อบต.โนนกอก จ.ชัยภูมิ อบต.โนนแหลมทอง จ.กาฬสินธุ์ อบต.มะเกลือใหม่ จ.นครราชสีมา รูปแบบเทศบาลตำบล จำนวน 4 แห่ง คือ ทต.โคกสี จ.สกลนคร ทต.ท่ากว้าง จ.เชียงใหม่ ทต.บางคลาน และ ทต.ไผ่รอบ จ.พิจิตร รูปแบบเทศบาลเมือง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ทม.ร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด ทม.พะเยา จ.พะเยา และ ทม.มหาสารคาม จ.มหาสารคาม
วัตถุประสงค์ของการจัดอบรม ครั้งนี้ เพื่อให้ อปท.ที่ทำงานในพื้นที่ ได้มีแผนงานและกลไกในการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรม และดำเนินการได้เอง รองรับกรณีการละเมิดกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะใน 5 มาตรการหลัก ที่ประกอบด้วย
1.มาตรการป้องกันการสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะที่กฎหมายกำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่
2.การขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ บุหรี่ ให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี
3.การห้ามใช้ จ้างวาน หรือยินยอมให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ บุหรี่
4.การแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวน
5.การแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขายปลีก จากการแลกเปลี่ยนการดำเนินการเฝ้าระวังในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในพื้นที่ได้มีการทำงานบูรณาการกันได้ดีระหว่าง อสม. แกนนำชุมชน โรงเรียน และวัด มีการจัดแกนนำเฝ้าระวังร้านค้าในชุมชนไม่ให้มีการละเมิดขายบุหรี่ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และการแบ่งซองขาย มีการประชาสัมพันธ์การจัดเขตสูบบุหรี่ในสถานที่สำคัญที่ใช้ประกอบศาสนกิจร่วมกันในชุมชน อย่างเช่น วัด โรงเรียน ขึ้นป้ายอย่างชัดเจนบริเวณทางเข้าออก และยังใช้สถานการณ์โควิด - 19 ระบาด ได้มีการประชาสัมพันธ์ไปยังจุดคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามให้กับผู้ป่วยโควิด ถึงการสูบบุหรี่ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ที่จะทำให้มีอาการหนักกว่าผู้ไม่สูบ ขอให้ใช้โอกาสนี้เลิกสูบบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยงอีกด้วย
ในช่วงสุดท้ายของการอบรม นิติกรจากกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 4 ท่าน ได้แก่ นายปริญญา ดาระสุวรรณ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนากฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศ นายอดิศักดิ์ พุ่มทอง นางสาวธัญชนก คีรีวงศ์ นายณพวีร์ ไหลพานิช นิติกร ได้มาชี้แจงข้อมูล ถึงหลักการและแนวทางการปฏิบัติการเฝ้าระวัง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายโดยกลไกของ อปท. นำร่องใน 11 พื้นที่นี้
โดยมีรูปแบบและแนวทางปฏิบัติ 4 ข้อคือ 1. ลงพื้นที่ดำเนินการเฝ้าระวังตามแผนที่กำหนด และมีการชี้แจงให้ทราบอย่างเป็นระบบ 2. วิเคราะห์เหตุการณ์ รวบรวมหลักฐาน เช่น ภาพถ่าย วีดีโอ และข้อมูลเพื่อร้องเรียนและส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบเพื่อดำเนินการต่อไป 3. มีการประชุมสรุปผลการเฝ้าระวัง เพื่อทำการโต้ตอบที่เหมาะสม 4. ติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ เกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
สิ่งสำคัญของการเฝ้าระวัง คือ การสังเกต การสำรวจ เมื่อเจอปัญหาแล้วจึงนำมาแก้ไข และลงไปรณรงค์ให้ความรู้ การรณรงค์ให้ถือเป็นปลายทาง และเชื่อแน่ว่าหลังการอบรมในครั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่ จะมีความเข้าใจทักษะการเฝ้าระวังได้ชัดเจนขึ้น สามารถนำไปจัดระบบการเฝ้าระวังและบทบาทหน้าที่ในพื้นที่รับผิดชอบ ในช่วงเวลา 2 เดือนจากนี้ มีความคืบหน้าอย่างไร จะได้มาร่วมแลกเปลี่ยนกันต่อไป
#ท้องถิ่นปลอดบุหรี่ #ปลอดบุหรี่ทั่วท้องถิ่นไทย
ข้อมูลโดย : Smartnews เผยแพร่ 2 สิงหาคม 2564