คอลัมน์ : จับกระแส
สสส. ถอดรหัสความสำเร็จ สถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ ช่วยยกระดับสุขภาพพนักงานกว่า 3 แสนคน มีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดสูบ-ลดดื่ม เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พนักงานลา-ป่วย ลดลง วิกฤตโควิด-19 แรงงานตื่นตัว เลิกสูบ ลดเสี่ยงมากขึ้น
ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการขยายฐานการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ ในฐานะอุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานมหกรรมสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพออนไลน์ จัดโดยสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ส.พ.ส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า โครงการพัฒนาสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ สนับสนุนโดย สสส. มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพ คือ ลด ละ เลิก ปัจจัยเสี่ยง บุหรี่ เหล้า การพนันและอุบัติเหตุในสถานประกอบการทั่วประเทศไทย ซึ่งได้จัดทำโครงการร่วมกับ สสส. ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน เข้าสู่โครงการระยะที่ 4
โดยมีการถอดบทเรียนความสำเร็จเป็นโมเดล 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.การทำงานเป็นระบบ 2.การสร้างความมีส่วนร่วมระหว่างพนักงาน สถานประกอบการ และหน่วยงานด้านสุขภาพในพื้นที่ 3.การดำเนินงานแบบครบวงจร 4.การทำงาน ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
ดร.ศันสนีย์ เผยว่า ผลสำเร็จของโครงการฯ สามารถผลักดันให้พนักงานในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลิกบุหรี่ได้มากกว่า 3,000 คน เลิกสุราได้กว่า 1,000 คน ซึ่งการเลิกยาเสพติดของพนักงานเหล่านี้ ยังส่งผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพพนักงานอีกกว่า 300,000 คน
"การดำเนินงานในระยะต่อไป ตั้งเป้าเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสถานประกอบการ และหน่วยงานด้านสุขภาพในพื้นที่ ช่วยการขับเคลื่อนการรณรงค์แก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ในสถานประกอบการในต่างจังหวัดมากขึ้น รวมถึงสร้างความร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันให้มีนิคมอุตสาหกรรมปลอดบุหรี่และอบายมุขต่อไป"
ข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Smartnews เผยแพร่ 18 สิงหาคม 2564