คอลัมน์ : เก็บมาฝาก
อ.นพ.วรวรรธน์ ระหว่างบ้าน แพทย์ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า โรคมะเร็งที่ลิ้นเป็นโรคมะเร็งในช่องปากที่พบได้บ่อยที่สุด หรือราว 30% ของมะเร็งในช่องปากทั้งหมด อันตรายของโรคมะเร็งลิ้น มะเร็งลิ้น จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงค่อนข้างสูง และมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยค่อนข้างมาก เนื่องจากลิ้นใช้ทั้งเคี้ยวอาหาร กลืน พูด และเป็นอวัยวะที่มีเส้นประสาท และเส้นเลือดมาเลี้ยงจำนวนมาก
ผู้ป่วยโรคมะเร็งลิ้นจึงมีปัญหาด้านการเคี้ยว กลืนอาหาร การพูด และจะมีความเจ็บปวดที่ลิ้นค่อนข้างเยอะ รวมถึงอาการเลือดออกที่ลิ้นได้ สัญญาณอันตราย มะเร็งลิ้น สังเกตุอาการเริ่ม
1. มีแผล หรือก้อนที่ลิ้น และไม่หายไปภายใน 2 - 4 สัปดาห์
2. พบฝ้าแดง หรือฝ้าขาวที่ลิ้น เป็นเรื้อรังไม่หายไปเอง
3. พบก้อนที่คอ บริเวณใต้ขากรรไกร ปัจจัยเสี่ยง มะเร็งลิ้น 1. สูบบุหรี่ ยิ่งสูบเยอะ สูบเป็นเวลานานหลายเดือนหลายปี ยิ่งเสี่ยงเยอะ งานวิจัยพบว่า หากสูบบุหรี่เกิน 30 มวนต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลิ้นได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า 2. ดื่มแอลกอฮอล์ ยิ่งดื่มเยอะ ดื่มเป็นเวลานานหลายเดือนหลายปี เสี่ยงโรคมะเร็งลิ้นมากกว่าคนทั่วไป ยิ่งถ้าสูบบุหรี่ด้วย ดื่มแอลกอฮอล์ด้วย จะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งลิ้นมากกว่าคนทั่วไปถึง 30 กว่าเท่า 3. เคี้ยวหมาก เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลิ้นได้ เพราะในหมากมีสารก่อมะเร็งที่เรียกว่า ไนโตรซามีน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนในช่องปาก และทำให้กลายเป็นมะเร็งได้ 4. มีแผลเรื้อรัง ซ้ำๆ ที่ลิ้น เช่น มีฟันผุ ขอบฟันคมจนทำให้เกิดแผลที่ลิ้น หรือใช้อุปกรณ์จัดฟัน หรือฟันปลอมที่ไม่พอดีกับช่องปาก
วิธีป้องกันโรคมะเร็งลิ้น เมื่อไรก็ตามที่พบแผล หรือก้อนบนลิ้น หรือที่ผิดจากปกติของลิ้น ที่ไม่หายเองใน 2 - 4 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาทันที เพราะมะเร็งลิ้นสามารถรักษาได้หากพบในระยะแรก ควรงดบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ และหมาก รวมถึงการดูแลสุขภาพฟันให้ดี ให้ทันตแพทย์ช่วยดูแลฟันอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาฟันคมจนบาดลิ้น รวมถึงการใช้ฟันปลอม หรืออุปกรณ์จัดฟันที่ไม่เหมาะสมด้วย
#เลิกสูบลดเสี่ยง #บุหรี่มีอันตรายทุกส่วนของร่างกาย #บุหรี่ฆ่าคุณให้ตายได้
เรียบเรียงข้อมูลจาก : รายการเกร็ดความรู้คู่สุขภาพ ของ ติดจอ ฬ จุฬา
ข้อมูลโดย อ.นพ.วร วรรธน์ ระหว่างบ้าน แพทย์ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
Smartnews เผยแพร่ 1 สิงหาคม 2563