บุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนัก ผู้นำเยาวชน และผู้แทนจากประเทศอาเซียน ทั้งรัฐและเอกชน ร่วมผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากกลยุทธ์บริษัทบุหรี่
กรุงเทพฯ 14 พฤษภาคม 2567: เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้นำเยาวชน นักสาธารณสุข และนักวิชาการ จากสิบประเทศในอาเซียน ร่วมประชุมกันที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ เพื่อร่วมกันหารือและเสนอมาตรการในการปกป้องเด็กและเยาวชน จากกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่
บริษัทบุหรี่ยังคงมุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน ด้วยการผลิตอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ เช่น ของเล่น อุปกรณ์การเรียน และขนมหวาน และใส่รสชาติต่างๆ รวมทั้งรสผลไม้ ลงไปอีกด้วย
การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียนนี้ จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนและมาตรการในการจัดการกับบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังระบาดหนักในหมู่เด็กและเยาวชน และเพื่อขานรับกับวันงดสูบบุหรี่โลกที่จะมาถึงในปลายเดือนนี้ ซึ่งในปีนี้องค์การอนามัยโลกเชิญชวนให้ทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ในหัวข้อ ปกป้องเด็กและเยาวชนจากบริษัทบุหรี่
บริษัทบุหรี่ต้องการรุกตลาดในเอเชีย และประเทศในอาเซี่ยนเป็นเป้าหมายสำคัญ บริษัทบุหรี่พยายามแทรกแซงนโยบายต่างๆ เพื่อจะทำให้เขาสามารถรุกเข้าไปขยายตลาดได้ ดังที่ปรากฏชัดเจนในดัชนีชี้วัดการแทรกแซงนโยบายโดยบริษัทบุหรี่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องทำนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายเรื่องบุหรี่อย่างเข้มแข็ง เพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ได้รับการปกป้องและไม่ตกเป็นเหยื่อจากการขยายตลาดของบริษัทบุหรี่
เป็นที่ทราบกันดีว่า บริษัทบุหรี่และเครือข่ายของบริษัทบุหรี่ได้ให้ข้อมูลที่บิดเบือนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้กำหนดนโยบายเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า โดยอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้ ในขณะเดียวกัน บริษัทบุหรี่ก็เร่งออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ที่มีการใส่สารปรุงรสต่างๆ เข้าไป ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีมากกว่า 16,000 รสชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นรสลูกกวาดและผลไม้ และทำการโปรโมตสินค้าเหล่านี้ทางออนไลน์เพื่อหลอกล่อเด็กและเยาวชนให้ติดนิโคตินไปตลอดชีวิต
ทั่วทวีปเอเชีย อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของวัยรุ่น (อายุ 13-15 ปี) เพิ่มขึ้นมากกว่าการสูบบุหรี่แบบเดิม ในมาเลเซีย (ข้อมูลปี 2565) ร้อยละ 24 ของเด็กผู้ชายสูบบุหรี่ไฟฟ้า และ ร้อยละ 6 ในเด็กผู้หญิง ในฟิลิปปินส์ (ข้อมูลปี 2562) เด็กผู้ชายร้อยละ 20.9 สูบบุหรี่ไฟฟ้า และ เด็กผู้หญิงสูบร้อยละ 7.5 ส่วนประเทศไทย พบว่าเด็กผู้ชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 20.2 และ เด็กผู้หญิงสูบร้อยละ 15 (ข้อมูลปี 2565)
“หากมองย้อนกลับไป ทั่วโลกได้ทำผิดพลาดในการปล่อยให้บริษัทบุหรี่ผลิตบุหรี่ออกมาขาย จากข้อมูลการติดบุหรี่ไฟฟ้าของวัยรุ่นในปัจจุบัน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เรากำลังเดินเข้าสู่หายนะอีกครั้งหนึ่งจากการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ตอนนี้ทุกรัฐบาลมีโอกาสตัดสินใจขั้นเด็ดขาดที่จะห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ ก่อนที่มันจะระบาดไปมากกว่านี้” ดร. Ulysses Dorotheo ผู้อำนวยการบริหาร SEATCA กล่าว
“อุตสาหกรรมยาสูบจะไม่ยอมหยุดไม่ว่าจะกรณีใดๆ เพราะเขาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ธุรกิจที่ขายนิโคติน ซึ่งเป็นสิ่งเสพติดและเป็นอันตราย อยู่รอดและรุ่งเรือง ลูกหลานของเรากำลังตกอยู่ในอันตรายของบุหรี่รูปแบบใหม่ หรือที่รู้จักกันในหมู่วัยรุ่นว่า “พอด” (Pod) รัฐบาลไทยต้องยืนยันไม่แก้กฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องเยาวชนจากการเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต” ศ.น.พ. ประกิต วาทีสาทกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าว
“ผมคิดว่าเป็นพันธกิจของรัฐบาลทุกประเทศ ในการส่งเสริมให้ประชากร โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน มีสุขภาพดี เราต้องทำงานร่วมกับเยาวชนของเรา และเปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง เพื่อสู้กับบริษัทบุหรี่ที่ให้ข้อมูลที่บิดเบือนมาโดยตลอด เราต้องร่วมกันสร้างสังคมที่ปลอดบุหรี่ทุกรูปแบบ” ดร. เด็กซ์เตอร์ กัลบัน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าว
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ชวาลา ภวภูตานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
Email chawala@ashthailand.or.th Mobile: 081 4585877
SEATCA เป็นองค์กรประสานงานในภูมิภาคอาเซียน ที่มีบทบาทในการหนุนช่วยองค์กรต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนานโยบายและสมรรถนะในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ตามกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) SEATCA เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานเลขาธิการอาเซียน