วันนี้ (17 มีนาคม 2566) นายเอกชัย เลิศวิบูลย์ลักษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธานในการกล่าวนำภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ 14 จังหวัดภาคใต้ กว่า 150 คน ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “คนใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ในงานสัมมนาเรื่อง “คนใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งจัดขึ้นที่ โรงแรมต้นอ้อย แกรนด์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ย้ำจุดยืน คนใต้จะร่วมมือกันรณรงค์ป้องกันประชาชนภาคใต้ทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ให้ปลอดพ้นจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ
นายเอกชัย เลิศวิบูลย์ลักษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานในการประกาศเจตนารมณ์ “คนใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ครั้งนี้ การระดมทุกภาคส่วนของภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ 14 จังหวัดภาคใต้ ให้มาร่วมกันรณรงค์ป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ากับกลุ่มเด็กและเยาวชนถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยายวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยคำประกาศเจตนารมณ์ “คนใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” มีแนวทางดังนี้
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ.2564 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปล่าสุด เท่ากับ ร้อยละ 17.4 มีจำนวนผู้สูบบุหรี่เท่ากับ 9.9 ล้านคน หากมองภาพรวมของประเทศลดลงจากรอบสำรวจที่ผ่านมา แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงคือ อัตราการสูบบุหรี่ของภาคใต้สูงที่สุดของประเทศไทย และยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยายวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะเกิดการเสพติดนิโคตินสารเสพติดตัวเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุหรี่ธรรมดาไปตลอดชีวิต
ถึงแม้ว่าขณะนี้ ประเทศไทยได้มีประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 และ ประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังมีปัญหาทำให้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายทั้งทางตรงและออนไลน์ และที่สำคัญอุตสาหกรรมยาสูบได้พยายามอย่างมากในการวิ่งเต้นผ่านผู้กำหนดนโยบายเพื่อให้ยกเลิกกฎหมายข้างต้น ซึ่งบทเรียนจากหลายประเทศที่ไม่ได้ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ต้องประสบปัญหาอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง จนเป็นสาเหตุให้หลาย ๆ ประเทศต้องออกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจากข้อมูลผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ประชากรไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีจำนวน 78,742 คน คิดเป็นอัตรา 0.14% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวนทั้งหมด 57 ล้านคน เป็นคนที่สูบทุกวัน 40,724 คน และสูบแบบไม่ทุกวัน 38,018 คน โดยผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 24,050 คน อายุระหว่าง 15-24 ปี ในขณะที่ภาคใต้ มีผู้สูบบุหรี่ทั้งสิ้น 1.7 ล้านคน คิดเป็น 22.4% ของประชากรภาคใต้ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นภาคที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุดในประเทศไทย และสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนเริ่มแพร่ระบาดอย่างหนัก เด็กและเยาวชนเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างเปิดเผยดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งหากมีการยกเลิกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า จะทำให้การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนยิ่งรุนแรงมากขึ้น
ศ.นพ.ประกิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาเรื่อง “คนใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” วันนี้ มีตัวแทนภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบจากทุกภาคส่วนในภาคใต้เข้าร่วม อาทิ นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา, รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา, รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่, คุณจูรี นุ่มแก้ว (จูรี แหลงเล่า) Influencer, ตัวแทนสื่อมวลชนศูนย์ข่าวปลอดควันภาคใต้, ตัวแทนเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่, ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่, ตัวแทนเยาวชน Gen Z Gen Strong เลือกไม่สูบ ดังนั้น ตนจึงขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมกันสื่อสารให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในอันตรายของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า และแสดงเจตจำนงในการร่วมกันปกป้องเด็ก เยาวชน และคุ้มครองสุขภาพของคนใต้ให้ปลอดพ้นจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ 02-278-1828