คอลัมน์ : คุณหมอนักสู้
โครงการ " 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน" ผมมีข้อเสนอให้พิจารณา ซึ่งคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อโครงการนี้มากในความเห็นของผม เมื่อสองปีก่อน รองศาสตราจารย์ พญ.Renee Biltoun จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ บรรณาธิการของ Journal of Addiction, บรรยายเรื่อง "การเลิกสูบบุหรี่" ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มีทั้งอาจารย์ แพทย์ นักศึกษาแพทย์เข้าฟัง หลังบรรยายเสร็จ เขาพูดฝากทิ้งท้ายว่า "ถ้าคุณจำอะไรที่ฉันพูดในวันนี้ไม่ได้เลย ขอให้จำไปเพียงอย่างเดียว คือ บอกให้คนสูบบุหรี่ไม่สูบในบ้าน จะช่วยให้เขาเลิกได้ง่ายขึ้น"
มีงานวิจัยทำกับผู้สูบบุหรี่ที่เข้าโครงการเลิกบุหรี่ของชุมชน น่าจะคล้ายคลึงกับโครงการของเรา เขาติดตามผู้สูบบุหรี่ 4,963 คนเป็นเวลา 5 ปี พบว่า คนที่ไม่สูบบุหรี่ในบ้านเลิกได้ร้อยละ 28 เทียบกับคนที่ยังสูบบุหรี่ในบ้านที่เลิกได้ร้อยละ 16 การไม่สูบในบ้าน ทำให้อัตราการเลิกได้สูงขึ้น ส่วนการที่คนไม่สูบบุหรี่ในบ้านเลิกได้มากขึ้น คงจะจากหลายสาเหตุร่วมกัน รองศาสตราจารย์ พญ.Renee Biltoun เชื่อว่า เป็นการเกิดกติกาเตือนใจคนสูบบุหรี่ ทุกครั้งที่เขาจะสูบบุหรี่ เปรียบเทียบกับคนที่ยังสูบบุหรี่ในบ้าน เครื่องเตือนใจที่จะให้เขาเลิกสูบก็จะน้อยกว่า ไม่มีอะไรเตือนใจเขาไม่ให้สูบ การสูบในบ้านได้ ทำให้การสูบบุหรี่ทำได้ง่าย ยิ่งสูบได้ง่ายก็ยิ่งทำให้การเลิกยาก อีกอย่างพอกำหนดบ้านปลอดบุหรี่ สมาชิกในบ้านจะชอบ และจะคอยเตือนหากจะมีการสูบในบ้าน อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้สูบบอก คือ สูบที่ทำงานก็ไม่ได้ ที่สาธารณะก็ไม่ได้ ที่บ้านก็ไม่ได้ น่าจะถึงเวลาต้องเลิกแล้ว
ข้อมูลโดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ