คอลัมน์ : รอบรั้วโรงเรียนปลอดบุหรี่
เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มอบโล่ ชู นัวตกรรมดีเด่น เพื่อป้องกันนักเรียนติดบุหรี่ “Smoke-free School Innovation 2020” เป็นการมอบรางวัลให้กับนวัตกรรมโรงเรียนปลอดบุหรี่ดีเด่นที่พัฒนานวัตกรรมเพื่อการควบคุมยาสูบ ใน 4 ภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 81 โรงเรียน โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จากการสำรวจการเข้าถึงยาสูบของนักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2 โดย ผศ.ดร.จักรพันธ์ เพชรภูมิ หัวหน้าโครงการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ที่ได้ทำการสำรวจนักเรียนจำนวน 3,982 คนทั่วประเทศ จาก 4 ภาค ภาคละ 1 อำเภอ ผลคือ นักเรียนส่วนใหญ่แม้จะมีทัศนคติไม่ดีต่อการสูบบุหรี่ แต่มีความรู้เรื่องสารพิษในบุหรี่ในระดับต่ำ และรับรู้ความเสี่ยงของการเป็นโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในระดับปานกลาง ขณะที่การเข้าถึงยาสูบยังง่ายมาก โดย 63.75% ซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบจากร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายของชำ โดยที่ 37.26% ไม่เคยถูกปฏิเสธจากร้านค้า 60.13% ซื้อแบบแบ่งขายเป็นมวน มีค่าใช้จ่ายในการซื้อยาสูบ เดือนละ 93 บาท 30.63% ขอจากเพื่อน หรือขอซื้อต่อจากเพื่อน ทั้งนี้ยังพบว่า 41.06% สูบในบ้านหรือบ้านเพื่อน 46.35% มีความคิดที่จะเลิกแต่ไม่เคยลงมือเลิก
“ข้อมูลเหล่านี้แสดงถึงความสำคัญของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ต้องมีส่วนร่วมกันอย่างแข็งขันมากขึ้น ในการป้องกันเด็ก ๆ จากการเสพติดบุหรี่” นางสุวิมล จันทร์เปรมปรุง คณะกรรมการบริหารเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า “จุดมุ่งหมายในการพัฒนาและยกระดับนวัตกรรมการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ให้เป็นรูปธรรมกับกลุ่มเป้าหมาย จนเกิดเป็น “นวัตกรรมการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่”
โดยใช้ฐานการดำเนินงานตาม 7 มาตรการในเชิงลึก วัดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมตามหลักวิชาการ และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการดำเนินงานจึงได้มอบโลให้กับโรงเรียนที่มีนวัตกรรมเด่น และใช้ในการขับเคลื่อนงานในโรงเรียนจนประสบความสำเร็จ เป็นการมอบโล่ แบบ New Normal ไปตามรายภาคตลอดทั้งเดือนกันยายน ดังรายละเอียดนี้
ภาคเหนือ ณ โรงแรมโฆษิตฮิลล์ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2563 มีนวัตกรรมทั้งหมด 29 แห่ง มี 11 แห่งที่ได้รับโล่นวัตกรรมโรงเรียนปลอดบุหรี่ระดับดีเด่น เช่น “นวัตกรรมเครือข่ายดาวกระจายไร้ควัน โดยทำให้เกิดเครือข่ายการขับเคลื่อนงานการรณรงค์สู่ชุมชน ซึ่งมีนักเรียนแกนนำเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน รวมถึงภาคีเครือข่ายในอำเภอที่ร่วมขบวนและได้ประกาศนโยบายอำเภอวังโป่งปลอดบุหรี่ โดยท่านนายอำเภอ” นวัตกรรมสร้างบ้านปลอดบุหรี่ เป็นการเสริมสร้างทักษะชีวิต (การปฏิเสธ/การแก้ปัญหา/สร้างภูมิคุ้มกัน) ด้วยกิจกรรม “Happy at Home” ของโรงเรียนบ้านในสอย จ.แม่ฮ่องสอน ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรม ดนตรี-กีฬา-ศิลปะ-สิ่งแวดล้อม-วัฒนธรรมพื้นบ้าน สื่อสารพิษภัยบุหรี่ไปยังผู้ปกครองและชุมชน เป็นต้น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมฟอร์จูนราชพฤกษ์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 มีโรงเรียนทั้งหมด 25 แห่ง มี 15 แห่งที่ได้รับโล่นวัตกรรมโรงเรียนปลอดบุหรี่ระดับดีเด่น เช่น นวัตกรรมนาฏมวยไทยต้านภัยบุหรี่ จากโรงเรียนหกสิบพรรษาวิทยาคม จ.อุบลราชธานี โดยการนำนักเรียนกลุ่มสูบบุหรี่ฝึกฝนกระบวนท่าแม่ไม้มวยไทยจนสามารถขึ้นแสดงได้ในหลายเวที ทำให้นักเรียนรู้สึกรักและเห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่และพฤติกรรมเสี่ยงอีก นวัตกรรมสติ๊กเกอร์ไลน์ ไดโนปลอดบุหรี่ จากโรงเรียนสาธิตมหาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา(มอดินแดง) จ.ขอนแก่น ใช้รูปไดโนเสาร์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่นใส่ข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ทำเป็นสติ๊กเกอร์ที่ใช้ส่งในแอพพลิเคชั่นไลน์ เป็นต้น
ภาคกลาง ณ โรงแรมอมารีดอนเมือง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 มีโรงเรียนทั้งหมด 16 แห่ง มี 8 แห่งที่ได้รับโล่ดีเด่น คือ “นวัตกรรม Walk rally บุหรี่มหันตภัย 8 ฐานกิจกรรม ที่สอดแทรกเรื่องบุหรี่ เช่น การทดลองสารพิษในควันบุหรี่ อักษรซ่อนโรค VS อักษรซ่อนพิษ นวัตกรรมเหล่านี้ได้กลายเป็นต้นแบบที่ทำให้ครูหลายๆ โรงนำไปผลิตและปรับใช้ในโรงเรียน” โรงเรียนคลองกิ่วยิ่งวิทยา จังหวัดชลบุรี นวัตกรรมการแก้ปัญาหการติดสารนิโคตินในบุหรี่ โดยใช้ชาชงหญ้าดอกขาว กับน้ำผึ้งและมะนาว มีการติดตามและประเมินผล เป็นต้น
ภาคใต้ ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 26 กันยายน 2563 มีโรงเรียนทั้งหมด 11 แห่ง โดยมี 5 แห่ง ได้รับโล่ดีเด่น คือ “นวัตกรรมหนังตะลุงมีชีวิตพิชิตควันบุหรี่ เป็นนวัตกรรมท้องถิ่นประจำภาคใต้แปลงเนื้อร้องเป็นเรื่องโทษพิษภัยของบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ของนักเรียนในกิจกรรมที่ตนเองสนใจ โรงเรียนบ้านคลองนามิตรภาพที่ 201 จังหวัดสุราษฎร์ธานี "นวัตกรรมชุดการเรียนรู้เรื่อง No Smoking" สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 6 ชุด ต้องการให้นักเรียนตระหนักในเรื่องพิษภัยของบุหรี่ โรงเรียนคลองพนสฤษดิ์พิทยา จังหวัดกระบี่ เป็นนวัตกรรมมหาสนุกสร้างสรรค์ไอคิว นวดฝ่าเท้ากดจุดสะท้อนเลิกบุหรี่และสมุนไพรช่วยเลิกสอดแทรกการเรียนการสอน เป็นต้น
และในการมอบโล่เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับโรงเรียนที่มีนวัตกรรมดีเด่น ก็ยังได้มีการนำเสนอประสบการณ์ และอุปสรรค์ในการดำเนินงานจนเกิดเป็นนวัตกรรมของแต่ละโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและเป็นกำลังใจให้กับโรงเรียนที่พร้อมจะขับเคลื่อนในแผนงานต่อไปของเครือข่ายครูฯ นับเป็นก้าวใหม่ของการรณรงค์ที่ได้ถอดบทเรียนจากการดำเนินงาน ที่มีการทดลองและลงมือปฏิบัติจริง จนสามารถพัฒนาออกมาเป็นสื่อนวัตกรรมในบริบทของโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนงานการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ในโรงเรียนและชุมชนต่อไป ในนามของมูลนิธิรณรงค์ฯ ต้องขอขอบคุณคณะครูผู้ขับเคลื่อนงานทุกท่าน รวมถึงท่านผู้บริหารโรงเรียนที่สนับสนุนให้การดำเนินงานจัดทำนวัตกรรมสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
สามารถเข้าไปดูรายละเอียดนวัตกรรมดีเด่นได้ทั้งหมดทาง www.smokefreeschool.net
ข้อมูลโดย สุขสันต์ เสลานนท์
Smartnews เผยแพร่วันที่ 29 กันยายน 2563