คอลัมน์ : เก็บมาฝาก
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (สสท.) ร่วมกับศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัด แถลงข่าวและเสวนาวิชาการ หัวข้อ "การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในอาคารชุด" เพื่อแก้ปัญหาการสูบบุหรี่และคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในอาคารชุดของประเทศไทย เพราะการสูบบุหรี่ต้องไม่ไปกระทบกับสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นๆ ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าวและเสวนา ดังนี้ รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์ ได้มาเปิดเผยถึง ผลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในอาคารชุดพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2563 รศ.ดร.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายจรญ เกษร กรรมการผู้จัดการบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) นายไพศาส ลิ้มสถิตย์ กรรมการศูนย์กหฎหมายสุขภาพและจริยศาสาตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศ.ดร.ฉัตรสุมน พฤฒิภิญโญ นักวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ ศจย. พร้อมด้วย นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ฯ
ได้มาร่วมในการแถลงข่าว และได้กล่าวว่า การควบคุมยาสูบจัดเป็นปัญหาการสาธารณสุขที่สำคัญของโลก รวมถึงประเทศไทย จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก 2562 ระบุว่า ยาสูบฆ่าคนมากกว่า 8 ล้านคนต่อปี เป็นผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาสูบโดยตรง กว่า 7 ล้านคน และอีก 1.2 ล้านคน เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยมีความเป็น "สังคมเมือง" มากขึ้น การอยู่อาศัยรวมกันของผู้คนในเมืองใหญ่ จึงมักอยู่ในรูปแบบของอาคารชุด เช่น คอนโด หรืออพาร์ทเมนท์ ปัญหาเรื่องควันบุหรี่ของผู้ที่สูบในอาคารชุด จึงเป็นปัญหาที่สังคมต้องการแนวทางแก้ปัญหา
ในการเสวนานี้ จึงได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ในอาคารชุด แยกเป็น 2 ประเภท คือ คอนโดมิเนียม ซึ่งจะมีเจ้าของแต่ละห้องแยกกรรมสิทธิ์กันโดยอยู่ภายใต้การดูแลของแต่ละนิติบุคคลอาคารชุด และอพาร์ทเม้นท์ คือ อาคารชุด ที่ถือกรรมสิทธิ์โดยเจ้าของคนเดียว และมีการทำสัญญาเช่าให้พักอาศัย โดยขอแยกการจัดการเป็น 2 กรณ๊
กรณีที่ 1 คือ มีการสร้างอาคารชุดไปแล้ว - ก่อนที่จะมีมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในอาคารชุด ให้ดำเนินการสื่อสารบ่อยๆ กับผู้อยู่อาศัย ว่าเหตุใดจึงต้องห้ามสูบบุหรี่ โดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ก่อนที่จะมีการบังคับห้ามสูบบุหรี่ ผู้สูบบุหรี่อาจใช้โอกาสนี้เลิกบุหรี่ไปเลย - จัดประชุมให้ผู้อยู่อาศัยแสดงความคิดเห็น เพื่อเพิ่มการสนับสนุนและลดปัญหาเรื่องการห้ามสูบบุหรี่ที่จะเกิดขึ้น ให้ข้อมูลหรือจัดให้มีหน่วยงานช่วยเลิกบุหรี่สำหรับผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเลิก - แจ้งผู้อยู่อาศัยใหม่ ให้เข้าใจมาตรการห้ามสูบบุหรี่ - ในการดำเนินการมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในอาคารชุด ควรมีสัญลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่ติดแสดงให้เห็นชัดเจน รับทราบร่วมกันทั้งผู้อาศัยและบุคคลภายนอก ผู้ดูแลอาคารต้องดำเนินการตรวจสอบ ติดตามการปฏิบัติตามมาตรการห้ามสูบบุหรี่ ตกลงร่วมกันหากมีการละเมิด เกิดความเสียหายในอาคารต้องรับผิดชอบ
กรณีที่ 2 กรณีที่จะมีการสร้างอาคารชุดขึ้นมาใหม่ ผู้ประกอบการที่จะก่อสร้างอาคารชุด ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม หรืออพาร์ทเม้นท์ สามารถแสดงเจตนา ประกาศว่าอาคารชุดที่จะมีการก่อสร้างให้พักอาศัยเป็นเขตปลอดบุหรี่ได้ และสามารถกำหนดได้ด้วยว่า ห้ามสูบบุหรี่ริมระเบียง เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิในสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ที่พักอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นการอาศัยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยบุคคลสิทธิ ซึ่งสามารถระบุเป็นสัญญา ก่อนเข้าพักอาศัยหรือเป็นสัญญาเช่าก็ได้ และกรณีนี้ไม่ได้เป็นการกระทบกระเทีอนต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ต้องการจะสูบบุหรี่ เพราะกรณีนี้ ผู้ประกอบการได้แสดงเจตนาอันมีลักษณะเป็นคำเสนอไว้ในเบิ้องต้นแล้ว
ข้อมูลโดย : สุขสันต์ เสลานนท์
จากงานแถลงข่าว Smartnews เผยแพร่ 25 พฤศจิกายน 2563