14 ราชวิทยาลัยวิชาชีพแพทย์แห่งประเทศไทย
ร่วมแถลงการณ์ “หมอไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ในวันแพทย์ไทย
วันที่ 27 พ.ย. 2567 ที่โรมแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการเสวนาสื่อมวลชนและการแถลงข่าว “หมอไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนให้รอดพ้นจากพิษภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า อันจะนำไปสู่การมีสุขภาพและสติปัญญาที่ดีของเยาวชนในการที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไป เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน และลดภาระการรักษาพยาบาลในระบบสาธารณสุขของประเทศ
นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส รองประธานโครงการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ภายใต้สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า จากสถานการณ์ของการระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ที่สำรวจพบเด็กและเยาวชนจำนวนมากหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากค่านิยมในกลุ่มเพื่อนและการตลาดล่าเหยื่อที่ดึงดูด เช่น กลิ่นรสที่หลากหลายและรูปลักษณ์ที่น่าเย้ายวน ขอยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารเสพติด ที่มีฤทธิ์ทำร้ายทุกระบบของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชนที่สมองส่วนหน้ายังไม่พัฒนาเต็มที่ ส่งผลต่อพัฒนาการการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ ความจำ สมาธิ การควบคุมอารมณ์และสุขภาพจิต แม้มีหลายประเทศที่อนุญาตให้ขายบุหรี่ได้ แต่ก็มีการออกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเยาวชน หรือจำกัดการโฆษณา เพื่อป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน แต่ยังคงมีช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้เด็กสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้
นพ.วันชาติ กล่าวว่า จากพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าดังกล่าวข้างต้น เนื่องในโอกาสวันแพทย์ไทย 27 พ.ย. ประธานและผู้แทนจาก 14 ราชวิทยาลัยวิชาชีพแพทย์แห่งประเทศไทย จึงร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ ดังนี้
1. พวกเราจะมุ่งมั่นร่วมมือกันสนับสนุนให้ “คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า” โดยขอเรียกร้องให้รัฐสภา “คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อคุ้มครองสุขภาพเด็ก และให้ความสำคัญกับอนาคตของชาติมากกว่าผลกำไรและภาษี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
2.พวกเราทุกราชวิทยาลัย จะร่วมมือกันส่งเสริมให้ “การไม่สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า เป็นค่านิยมดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่น” ทั้งนี้ นอกเหนือจาก “หมอไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” แล้ว พวกเราขอเรียกร้องและเชิญชวนให้คนไทยทุกคนตื่นตัว ออกมาปกป้องลูกหลานของเราเอง โดยใช้ “# คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” เป็นวาระแห่งชาติ สำหรับคนไทยทุกคน จากนี้เป็นต้นไป จนกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณายืนยันการไม่ให้มีการนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยต่อไป
ศ.นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาน่าวิตกอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและผู้สูบหน้าใหม่ที่ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบมาก่อน โดยสาเหตุของการแพร่ระบาดใหญ่คือ
1. การให้ข้อมูลที่บิดเบือนว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย ไม่มีอันตรายใด ๆ จนองค์การอนามัยโลกมีคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2567 ว่า “ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าหยุดโกหกได้แล้ว”
2. การปรุงแต่งกลิ่นรสที่เย้ายวนใจให้เยาวชนและผู้สูบหน้าใหม่ต้องหันมาริลองใช้จนเสพติดในระยะยาว ภายใต้รูปลักษณ์ที่ดูโฉบเฉี่ยว กลิ่นหอม เท่หรู นำสมัย แต่กลับซุกซ่อนโทษภัยไว้มากมาย เพราะนิโคตินในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนิโคตินสังเคราะห์ ทำให้เกิดการระคายคอ ดูดซึมได้มาก และเร็วกว่านิโคตินธรรมชาติ อีกทั้งสามารถเพิ่มระดับได้เป็น 100 เท่าของบุหรี่มวน ไอของบุหรี่ไฟฟ้ายังประกอบด้วยสารเคมีมากถึง 2,000 ชนิดที่ยังไม่เป็นที่รู้จักทางการแพทย์และยังไม่ทราบผลกระทบต่อมนุษย์หากมีการใช้ต่อเนื่อง
รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา ตัวแทนราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ กล่าวเสริมว่า สารเคมีเหล่านี้โดยเฉพาะนิโคตินสามารถดูดซึมเข้าสู่สมองภายใน 7 วินาที จะทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ผนังหลอดเลือด เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจและปอด และกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ทุกระบบของร่างกาย อาทิ
1. โรคหลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่พบได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า
2. เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง ปอดแตกลมรั่วร้อยละ 75 และเกิดปอดอักเสบรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า รวมทั้ง EVALI และปอดข้าวโพดคั่ว
3. เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคเบาหวาน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ได้ถึง 2 เท่าของคนทั่วไป
4. ทำให้หน้าเหี่ยวแก่ก่อนวัย เกิดสิวฝ้า และผื่นแพ้ และฟันเหลือง
5. เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อชนิดต่าง ๆ มากขึ้นถึงร้อยละ 40 ที่สำคัญพบว่าในหนูทดลองที่ได้รับควันบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดมะเร็งปอดได้ถึง 1 ใน 4 ดังนั้น บุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นอันตรายไม่แตกต่างจากบุหรี่มวน และไม่ใช่ทางเลือกในการเลิกบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มุ่งหวังเพียงผลกำไรสู่ผู้ผลิตและผู้ขาย โดยไม่เคยรับผิดชอบต่อพิษภัยและผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นกับผู้สูบเลยแม้แต่น้อย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงขอวิงวอนให้คนไทยอย่าทำร้ายตนเอง อย่าเปิดโอกาสให้แก่ธุรกิจเหล่านี้ นำเอาบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เราหรือลูกหลานของเราตกเป็นเหยื่อหรือหนูทดลองเลย
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กรรมการราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การตลาดล่าเหยื่อของบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าเด็กและเยาวชน ทำให้เกิดวิกฤตการระบาดในเด็กเล็กลงมาถึงระดับประถม ซึ่งเป็นความกังวลของกุมารแพทย์และควรเป็นความกังวลของสังคมไทยด้วย เพราะนอกจากนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะอันตรายต่อสุขภาพเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่แล้ว ที่แตกต่างคือจะมีผลต่อสมองของเด็กที่กำลังพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์จนถึงอายุ 25 ปี ทำให้ประสิทธิภาพของสมองลดลงถึง 3-4 เท่า นอกจากนี้การทำงานของสมองเด็กยังเรียนรู้ได้เร็วกว่าผู้ใหญ่จึงทำให้เสพติดบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เด็กมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าผู้ใหญ่ ในปริมาณนิโคตินเท่ากันจึงเหมือนกับได้รับมากกว่า รวมทั้งประสิทธิภาพการขับสารพิษยังพัฒนาไม่เทียบเท่าผู้ใหญ่ ที่สำคัญขณะนี้อัตราการเกิดของเด็กลดลงกว่าครึ่ง ในสถานการณ์ที่เด็กเกิดน้อยหากสมองต้องมาถูกทำลายจากบุหรี่ไฟฟ้า ยิ่งจะซ้ำเติมวิกฤตชาติ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องคนไทยทุกคนโดยเฉพาะรัฐมีหน้าที่ที่ต้องมุ่งมั่นปกป้องคุ้มครองเด็กจากพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าจากผู้ประกอบการที่จงใจทำการตลาดเพื่อล่าเหยื่อเด็กเป็นลูกค้า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ กรรมการราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ากระตุ้นการหลั่งโดปามีน ทำให้เกิดการเสพติด ยังเป็นประตูนำสู่การสูบบุหรี่มวนและสารเสพติดอื่นเพิ่มขึ้นด้วย การศึกษาแบบ Systematic Review พบความสัมพันธ์ของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า สมาธิสั้น ปัญหาทางพฤติกรรม และการทำร้ายตัวเอง สอดคล้องกับการศึกษาภาคตัดขวางจากประเทศไทย ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 10-19 ปี พบว่ากลุ่มเยาวชนที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยใช้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอาจจะทำให้ปัญหาสุขภาพจิตที่มีอยู่แล้วแย่ลงคล้ายกับการใช้บุหรี่ธรรมดา และกลุ่มผู้สูบบุหรี่ที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มที่จะใช้บุหรี่ไฟฟ้าต่อหลังจากเลิกบุหรี่ได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิต นอกจากนี้ในการศึกษาพบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่มวนมีประสิทธิภาพด้อยกว่าใช้วิธีอื่น
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ จะทำให้สารพิษทั้งนิโคติน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และสารอื่นๆ ถูกส่งผ่านจากมารดาเข้าไปสู่รก ทำให้ทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารและก๊าซออกซิเจนไม่เพียงพอ มีโอกาสแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด ทารกเจริญเติบโตช้า (Intrauterine growth retardation) จนถึงตายคลอด (Stillbirth) รวมทั้งรกที่เสื่อมสภาพ ทำให้มีการลอกตัวจากผนังมดลูกก่อนกำหนด รกของสตรีที่สูบบุหรี่มากบางรายสร้างสารพิษออกมากระตุ้นให้เกิด “ครรภ์เป็นพิษ” มีความดันโลหิตสูง บวมทั่วร่างกาย มีการรั่วไหลของสารโปรตีนทางปัสสาวะ ถ้าอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะชัก หลอดเลือดในสมองแตก และเสียชีวิตได้ ในสตรีบางราย สารพิษจากการสูบบุหรี่รบกวนบริเวณยอดมดลูก รกก็จึงไปเกาะที่บริเวณส่วนล่างของมดลูกหรือคลุมปากมดลูกที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงมากกว่าที่เรียกว่า “รกเกาะต่ำ” แทน จะขัดขวางการคลอดของทารกและทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการเสียเลือดมาก ทั้งนี้ จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า ทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะมีขนาดปอดเล็ก มีโอกาสเกิดภาวะหายใจผิดปกติ โรคหอบหืด นอกจากนี้มีการเสียชีวิตด้วยโรคระบบประสาทผิดปกติ หรือพัฒนาการล่าช้า พบโรคสมาธิสั้น ปากแหว่งเพดานโหว่ และโรคไหลตายในทารก (Sudden Infant Death Syndrome : SIDS) สูงกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับบุหรี่ไฟฟ้า
รศ.พญ.วรินี เล็กประเสริฐ ประธานราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันวิสัญญีแพทย์ต้องซักประวัติเรื่องการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด เพื่อผลการผ่าตัดที่ดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และหลังผ่าตัดแนะนำให้งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพราะผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างทั้งในระหว่างและหลังผ่าตัด เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดผลเสียระบบในร่างกาย
1. ระบบสมอง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบ บุหรี่ไฟฟ้าทำลายตัวกั้นกลางระหว่างเลือดและสมอง (blood-brain barrier) ซึ่งถือเป็นตัวป้องกันไม่ให้สารพิษและเชื้อโรคเข้าสู่สมอง
2. ทำให้เกิดการอักเสบของระบบประสาทนำไปสู่โรคทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม
3. บุหรี่ไฟฟ้าทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง นำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด และกล้ามเนื้อหัวใจตาย
4. ระบบทางเดินหายใจและปอด ไอของบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดการอักเสบ ทำให้หอบเหนื่อย มีเสมหะมาก ไอไม่มีประสิทธิภาพหลังผ่าตัด ทำให้การทำงานของปอดบกพร่อง การหายใจล้มเหลว บางรายถอดเครื่องช่วยหายใจหลังผ่าตัดได้ล่าช้า
5. ผลต่อแผลผ่าตัด นิโคตินทำให้หลอดเลือดหดตัวจะทำให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงแผลน้อย แผลผ่าตัดแยก ติดเชื้อที่แผล นอกจากนี้ สารเคมีในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และนิโคตินทำให้ต้องใช้ยาระงับความรู้สึกมากขึ้น ใช้ยาระงับปวดเพิ่มขึ้น ทำให้ยากต่อการจัดขนาดยาที่เหมาะสม
พ.ญ.รินภา ศิริพร ณ ราชสีมา กรรมการบริหารราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพของผู้สูบในด้านต่าง ๆ แต่ยังส่งผลกระทบต่อคนอื่น ๆ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ที่เรียกว่า บุหรี่มือสอง และบุหรี่มือสาม โดยบุหรี่มือสองคือกรณีที่คนรอบข้างที่ได้ควันบุหรี่ขณะอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งเรามีโอกาสหลีกเลี่ยงได้ และมีประกาศเขตพื้นที่ปลอดบุหรี่อย่างขัดเจน แต่ยังมีปัญหาอย่างมากกับคนในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกับผู้ที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าบิดเบือนว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีควันจึงไม่มีผลกระทบของบุหรี่มือสองและสาม ส่วนบุหรี่มือสาม คือการที่สารพิษของบุหรี่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นอีกปัญหาหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งได้ไม่ต่างจากคนที่สูบบุหรี่ โดยที่คนรอบข้างไม่มีสิทธิ์เลือกและการรับรู้ต่อผลกระทบในด้านนี้ยังน้อย ทำให้ขาดความระมัดระวังทั้งตัวผู้สูบ และผู้ที่อยู่รอบข้าง และคนที่ได้รับผลกระทบทั้งบุหรี่มือสองและมือสามมากที่สุดคือคนในครอบครัวและเด็ก โดยควันบุหรี่สามารถมีสารพิษตกค้างอยู่ในบ้านได้ถึง 6 เดือน และเด็กมีโอกาสได้รับสารพิษมากถึง 2 เท่า
บุหรี่ไฟฟ้ายังมีผลกระทบต่อสังคม ทำให้เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน และเรียนไม่มีประสิทธิภาพ จึงหนีเรียน และเข้าสู่วังวนของยาเสพติดอื่น ๆ ซ้ำเติมปัญหาสังคมของประเทศ ก่อให้เกิดความรุนแรง และอาชญากรรมอื่น ๆ ตามมา ยิ่งสูบมากก็จะยิ่งเจ็บป่วยทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ประเทศสูญเสียศักยภาพของเยาวชนอนาคตของชาติ สูญเสียทรัพยากรในการรักษาพยาบาลจากเงินภาษีของคนทั้งประเทศ รอนสิทธิ์ของคนส่วนใหญ่ที่ไม่สูบบุหรี่ ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายทรัพยากรของคนทั้งโลก และขัดขวางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ
ทั้งนี้ 14 ราชวิทยาลัย ประกอบด้วย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์ ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์ และราชวิทยาลัยจักษุแพทย์
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
นางสาวรติกร เพมบริดจ์ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ โทร.085-8028823