สื่อในสังกัดสำนักประชาสัมพันธ์ภาคใต้เขต 5 และ 6 ขานรับนโยบาย กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมสื่อสารข้อมูล เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า



มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

               
Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่  19  พฤศจิกายน 2567

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

สื่อในสังกัดสำนักประชาสัมพันธ์ภาคใต้เขต 5 และ 6 ขานรับนโยบาย

กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมสื่อสารข้อมูล เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า

 

     วันนี้ (19  พฤศจิกายน 2567)  มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ กรมประชาสัมพันธ์, ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ (พศย.)  สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด “การสัมมนาสื่อมวลชนสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ เขต 5 และ 6 เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อสร้างความตระหนักและร่วมกันสื่อสารเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าให้กับกลุ่มสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมเป็นบุคลากรระดับปฏิบัติการในสังกัดของกรมประชาสัมพันธ์ เขต 5 และ เขต 6 จำนวน 45 ท่าน จาก 14 จังหวัดภาคใต้ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากเครือข่ายสื่อมวลชนศูนย์ข่าวปลอดควันจังหวัดสงขลา, สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข และมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

     นางมุจรินทร์ ทองนวล ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมยาสูบได้ตระหนักถึงผลกระทบของอันตรายจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ  ซึ่งถือเป็นปัญหาในระดับประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อออนไลน์ และสื่อบุคคล จึงได้มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานด้านการสื่อสาร  ประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า อีกทั้งอัตราการสูบบุหรี่ของภาคใต้ยังสูงที่สุดของประเทศไทย และยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยายวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะเกิดการเสพติดนิโคตินสารเสพติดตัวเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุหรี่ธรรมดาไปตลอดชีวิต

     ดังนั้น กรมประชาสัมพันธ์ ยินดีสนับสนุนและจะร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ในการสนับสนุนให้องค์กรที่อยู่ในสังกัดของกรมประชาสัมพันธ์ มีแผนงานการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเป็นเกราะป้องกันได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนไทยทุกคน จากมหันตภัยพิษร้ายจากบุหรี่ไฟฟ้า  โดยได้สัมมนาให้ความรู้กับ คณะทำงานด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงผู้อำนวยการ สวท. และ สทท.ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จากงานครั้งนั้น มีข้อเสนอให้จัดการสัมมนาให้ข้อมูล ความรู้กับบุคลากรระดับปฏิบัติการในสังกัดของกรมประชาสัมพันธ์ เพิ่มเติม เพื่อสามารถนำข้อมูลสื่อสาร เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ส่งต่อถึงเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ได้รับรู้ถึงพิษภัยของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า  

     ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพรื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ.2564 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปล่าสุด เท่ากับ ร้อยละ 17.4 มีจำนวนผู้สูบบุหรี่เท่ากับ 9.9 ล้านคน หากมองภาพรวมของประเทศลดลงจากรอบสำรวจที่ผ่านมา นอกจากนี้ จากผลการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี 6,752 คน จากโรงเรียน 87 โรงทุกภูมิภาค พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 เทียบเท่ากับเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ที่สำคัญยังพบว่า มีผู้เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 7 ปี จากกลยุทธ์การตลาดของบริษัทผู้ผลิตที่มุ่งเป้าเยาวชน สร้างภาพลักษณ์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเหมือนของเล่น มีกลิ่นหอม และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง จากข้อมูลผลการสำรวจของ รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง “การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนมัธยมศึกษา และการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าของครูในโรงเรียน” ระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 โดยกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 6,147 คน จาก 16 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาพบว่า 39.3% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด, 35.8% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) และ 34.2% ไม่เชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสมองและการเรียนรู้  ดังนั้นการปกป้องเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน

     ศ.นพ.ประกิต  กล่าวเพิ่มเติมว่า “เด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ติดนิโคตินหนักกว่าเด็กที่สูบบุหรี่มวน มีความเสี่ยงที่เด็กจะไปสูบบุหรี่มวน หรือติดสิ่งเสพติดร้ายแรงชนิดอื่น ๆ นิโคตินมีอันตรายต่อสมองส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ สมาธิ และการควบคุมอารมณ์ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการซึมเศร้า นอกจากนี้ นิโคตินยังเป็นอันตรายต่อปอด หลอดเลือดและหัวใจในระยะยาว ที่น่ากังวล สารปรุงแต่งกลิ่นหอมที่ใช้ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อได้รับความร้อนจากแบตเตอรี่ในอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ปอดอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง และไอของบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสารก่อมะเร็งและโลหะหนัก เป็นอันตรายต่อพันธุกรรม (DNA) ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ สามารถพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง สิ่งสำคัญคือพ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องเป็นแบบอย่าง ไม่สูบบุหรี่ทุกชนิด เพื่อลดความเสี่ยงเด็กเสพติดบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า” 

     ดังนั้น  การที่กรมประชาสัมพันธ์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานด้านการสื่อสาร  ประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นและสมควรดำเนินการอย่างยิ่ง สอดคล้องกับ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบโดยองค์การอนามัยโลก (WHO Framework Convention on Tobacco Control; WHO FCTC) มาตรา 12 ที่ระบุว่า การให้การศึกษา การสื่อสาร การฝึกอบรมและการสร้างจิตสำนึกของสาธารณชน โดยใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดที่มีความเหมาะสม  ประเทศสมาชิกใช้มาตรการต่าง ๆ ดำเนินการเพื่อส่งเสริมจิตสำนึกของประชาชนและให้ประชาชนได้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพจาการบริโภคยาสูบและการสูดดมควันยาสูบรวมทั้งประโยชน์ที่จะได้รับจากการเลิกใช้ยาสูบ ซึ่งรวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ศ.นพ.ประกิต กล่าว

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  02-278-1828

 

topic

  • อดีตแพทย์ชนบทค้านรื้อ กม. สสส.
  • แม่สูบบุหรี่-กินเหล้า ลูกเสี่ยงปากแหว่งฯ
  • มหาสารคามร่วมมือ สสส.จับมือดึงนักศึกษาเลิกบุหรี่เพื่อคนที่คุณรัก เพื่อสุขภาพฉลอง 150 ปี สู่ประชาคมอาเซียน
  • คณะสงฆ์มหาสารคาม รณรงค์เมืองปลอดบุหรี่
  • บทพิสูจน์
  • ชี้แก้ พ.ร.บ. สสส. ไม่ตอบโจทย์ปัญหานักวิชาการแนะยกเครื่องปรับระเบียบ
  • มอบใบประกาศเชิดชูเกียรติปวารณา งดเหล้า/บุหรี่ ครบพรรษา
  • ลดเหล้า-บุหรี่ หนีต้อเนื้อ
  • ตำบลปลอดบุหรี่
  • ภาคีบุหรี่หนุนกม.ยาเสพติด
  • คดีฟิลลิปมอร์ริสกับอธิปไตยของชาติ
  • สั่งร.ร.ปลอด'เหล้า-บุหรี่'
  • คณะสงฆ์รณรงค์ปลอดบุหรี่
  • สสส. หนุน โคราชโมเดล "ปลอดบุหรี่โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน" โชว์นวัตกรรมดีเด่น ช่วยคนเลิกบุหรี่
  • สบส. ขยายเวลาโครงการ "1 อสม. ขอ 1 คนเลิกบุหรี่" ตลอดปี 59 คาดลดนักสูบหน้าใหม่ ร้อยละ 80
  • 'ฮู'หนุนกม.ยาสูบฉบับใหม่ห่วง'บ.ข้ามชาติ'แทรกแซง
  • อช.เขาพนมเบญจา ทำบันทึกข้อตกลง MoU ปลอดบุหรี่ สู่ทิศทางท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพปลอดบุหรี่ วิถี New Normal
  • GenZ โคราช เรียนรู้กฎหมายควบคุมยาสูบ เพิ่มทักษะการปล่อยของ
  • อบรมพัฒนาศักยภาพแกนนำ Gen Z อุบลฯ จากรุ่น สู่รุ่น
  • มาทำความรู้จักกับโรคปอดรั่ว
  • รองโฆษกรัฐบาลห่วงเด็กไทยติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หนุนคนรุ่นใหม่ไม่สูบบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า
  • สร้างสื่อการเรียนรู้ สำหรับเด็กประถมวัย 22-23 พ.ย.2565
  • มาทำความรู้จักกับโรคปอดรั่ว
  • อช.เขาพนมเบญจา ทำบันทึกข้อตกลง MoU ปลอดบุหรี่ สู่ทิศทางท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพปลอดบุหรี่ วิถี New Normal
  • ชายหาดบางแสน เป็นพืิ้นที่ท่องเที่ยวต้นแบบ ที่ปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
  • “ชงรัฐบาล” เร่งปราบเว็บไซต์พนันออนไลน์และเว็บไซต์จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า
  • เกาหลีเหนือ ผ่านกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ
  • อันตรายของบุหรี่ต่อร่างกายของผู้หญิง เพิ่มความเสี่ยงโรคมากมาย
  • คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในอาคารชุด
  • "เลิกเพื่อลูก" ต๊ะ BoyScout กับเส้นทางสูบบุหรี่ 30 ปี
  • อบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรโรงเรียนพระปริยัติธรรมปลอดบุหรี่
  • มอบโล่ ชู นวัตกรรมดีเด่น เพื่อป้องกันนักเรียนติดบุหรี่ เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ 4 ภาค 81 โรง
  • กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ ลดการอยู่โรงพยาบาลของเด็กที่เป็นหืด
  • อินโดนีเซียเข้าร่วมสัญญาควบคุมยาสูบ
  • สพฐ.จับมือเครือข่ายครู และกระทรวงสาธารณสุข ขยายผลสร้างโรงเรียนปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ
  • มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดเวทีสรุปบทเรียน เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 38 ของการควบคุมการบริโภคยาสูบไทย
  • ควันบุหรี่มือสอง คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 20,000 ราย งานวิจัยใหม่ยืนยันสูดควันบุหรี่มือสองเสี่ยงมะเร็งเต้านม
  • แกนนำเครือข่ายเยาวชน 9 องค์กร เรียกร้องรัฐบาลให้บุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า
  • สื่อในสังกัดสำนักประชาสัมพันธ์ภาคใต้เขต 5 และ 6 ขานรับนโยบาย กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมสื่อสารข้อมูล เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า
  • บทเรียน ยกเลิกการห้ามขายและประเทศที่ให้ขายได้แต่ควบคุมมาตรฐานบุหรี่ไฟฟ้า และการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยบริษัทบุหรี่