บทเรียน ยกเลิกการห้ามขายและประเทศที่ให้ขายได้แต่ควบคุมมาตรฐานบุหรี่ไฟฟ้า
และการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยบริษัทบุหรี่
แถลงข่าวโดย
1. ศาสตราจารย์ สเตลล่า บีอลอส (Professor Stellar Bialous) ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
2. นายแอนดรู แบลค (Andrew Black) ผู้นำทีม สำนักเลขานุการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก
ก. บทเรียนจากแคนาดา: เกิดอะไรขึ้นเมื่อยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้า?
ในปี 2018 แคนาดาได้ยกเลิกการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า โดยเปลี่ยนไปใช้ระบบการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์ยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า (Tobacco and Vaping Products Act) การยกเลิกการห้ามดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนและคนหนุ่มสาวอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 2017 ถึง 2018 ที่เมืองอัลเบอร์ตา (Alberta) พบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 16-19 ปี เพิ่มขึ้นถึง 74% โดยอัตราการใช้เพิ่มจาก 8.4% เป็น 14.6% ในช่วงเวลานั้น อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี (ประมาณ 19%-20%) โดยพบว่าในกลุ่มผู้หญิงมีอัตราการใช้สูงกว่าผู้ชาย ทั้งนี้ ในช่วงปี 2021-2022 มีเยาวชน 11% ที่ใช้บุหรี่ทั่วไปควบคู่ไปด้วย รัฐบาลแคนาดาได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การจำกัดปริมาณนิโคตินไม่ให้เกิน 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตรในปี 2021 พร้อมทั้งแสดงความมุ่งมั่นที่จะสั่งห้ามการใช้กลิ่นรสในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวแคมเปญสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนอายุ13-18 ปีเกี่ยวกับความเสี่ยงของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อตอบสนองต่อความกังวลเกี่ยวกับ 'การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน' แคนาดาได้ลงทุนงบประมาณกว่า 12 ล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2017-2020 เพื่อสนับสนุนแคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยในจำนวนนี้ 9.5 ล้านดอลลาร์ถูกมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเยาวชนโดยเฉพาะ “ชาวแคนาดาที่มีอายุน้อยมีแนวโน้มที่จะใช้บุหรี่ไฟฟ้าภายใน 30 วันที่ผ่านมาในอัตราสูงกว่า (คิดเป็น 14% ของเยาวชนอายุ 15–19 ปี และ 20% ของผู้ที่มีอายุ 20–24 ปี) เมื่อเทียบกับเพียง 4% ของชาวแคนาดาที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป” ข้อมูลจากปี 2022 ซึ่ง "ในช่วงเวลาหนึ่ง อัตราเหล่านี้เคยสูงที่สุดในโลก"
1. สหรัฐอเมริกา: ไม่ห้ามขาย แต่ควบคุมมาตรฐาน แต่มีปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างผิดกฎหมายในประเทศ
ในปี 2016 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับอำนาจในการกำกับดูแลบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ ความตั้งใจ คือ เพื่อให้มีเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถวางจำหน่ายในตลาดได้ ภายในปี 2020 มีการยื่นคำขออนุมัติสำหรับผลิตภัณฑ์มากกว่า 6 ล้านรายการ และจนถึงปี 2024 มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตแล้วเพียงจำนวน 34 รายการ ซึ่งรวมถึง 3 ยี่ห้อแและอุปกรณ์ของยี่ห้อดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ “บุหรี่ไฟฟ้ากลิ่นรส รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งที่มีกลิ่นรสซึ่งเริ่มแพร่หลายในช่วงหลัง ไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่าย แม้จะมีการออกคำเตือนและมาตรการบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ แล้วก็ตาม” "ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้ากลิ่นต่าง ๆ ยังคงมีวางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย หลังจากที่การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนพุ่งสูงถึง 27.5% ในปี 2019 ปัจจุบัน (หลังสถานการณ์โควิด) แนวโน้มการใช้งานลดลงเหลือเพียง 5.9% ในปี 2024" อย่างไรก็ตาม 87.6% ของเยาวชนเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการแต่งกลิ่น โดยแบรนด์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดกลับไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายอย่างถูกต้อง กล่าวคือ เป็นสินค้าที่มีอยู่ในตลาดอย่างผิดกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ได้ดำเนินแคมเปญสื่อที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการป้องกันเยาวชนจากการสูบบุหรี่และการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ภายใต้ชื่อแคมเปญ “The Real Cost” สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8,657 ล้านบาท) ในช่วงสองปีแรกของโครงการรณรงค์นี้ แม้ว่าจะมีการส่งเสริมให้ลดการใช้งานลงอย่างต่อเนื่อง แต่ผลิตภัณฑ์จำนวนมากในตลาดสหรัฐยังคงเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
2. การกล่าวอ้างของอุตสาหกรรมบุหรี่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็นอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ความเป็นจริงของเรื่องนี้คืออะไร?
“บุหรี่ธรรมดาเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ก่ออันตรายที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าอันตรายจากโรคบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอาจลดลงเนื่องจากมีสารเคมีน้อยกว่า แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้ปลอดภัยอย่างแท้จริง อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ณ ปัจจุบัน ว่าการนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้เข้าสู่ตลาดส่งผลประโยชน์ต่อสุขภาพสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากประสบการณ์ในหลายประเทศพบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งไม่ได้สัมพันธ์กับการลดการสูบบุหรี่ในผู้ใหญ่ที่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย เนื่องจากมีสารนิโคติน (สารเสพติดที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของสมองในวัยรุ่น) สารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง โลหะหนัก เช่น นิกเกิล ดีบุก และตะกั่ว อนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดลึก สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย และสารแต่งกลิ่น เช่น ไดอะซิทิล ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคปอดที่รุนแรง” บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นวิธีลดอันตรายที่มีประสิทธิภาพในระดับประชากร ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้รับการรับรองให้เป็นอุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่ เนื่องจากยังไม่มีการทดสอบอย่างเข้มงวดเทียบเท่ากับยาที่ได้รับการรับรองอื่น ๆ เพื่อรับประกันความปลอดภัย (เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ปลอดภัย) และเพื่อตรวจสอบความเป็นพิษ (เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีความเป็นพิษ) ยิ่งไปกว่านั้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า นอกจากการที่เยาวชนเริ่มหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ยังมีสัดส่วนที่สำคัญของผู้สูบบุหรี่ที่ไม่ได้เลิกบุหรี่มวน แต่กลับกลายเป็นผู้ใช้ทั้งสองประเภทควบคู่กัน กล่าวคือ ใช้ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีอันตรายมากกว่าสูบเพียงบุหรี่มวน หรือบุหรี่ไฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว
ข. การแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบต่อการกำหนดนโยบายควบคุมยาสูบ
1. ทำไมเรื่องนี้จึงต้องได้รับความใส่ใจอย่างจริงจังจากประเทศต่าง ๆ
การประเมินผลกระทบของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) และงานวิจัยอื่น ๆ ที่เผยแพร่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ยังคงย้ำว่า การแทรกแซงจากอุตสาหกรรมยาสูบเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา (การลดจำนวนผู้สูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่มือสอง) เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ จำเป็นต้องยุติการแทรกแซงจากอุตสาหกรรมยาสูบ มิเช่นนั้น การที่จะได้รับประโยชน์ด้านสุขภาพและเศรษฐกิจที่อนุสัญญาเสนอไว้จะยิ่งยากขึ้นกว่าเดิม
2. ข้อเสนอแนะของ WHO FCTC เกี่ยวกับการปกป้องนโยบายควบคุมยาสูบจากการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบคืออะไร
อนุสัญญา WHO FCTC ตระหนักว่าอุตสาหกรรมยาสูบเป็นภัยคุกคาม และในมาตรา 5.3 ได้กล่าวอย่างชัดเจนถึงการที่ประเทศต่าง ๆ ควรปกป้องสุขภาพของประชาชนจากผลประโยชน์เชิงพาณิชย์และผลประโยชน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของอุตสาหกรรมยาสูบ รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการที่นานาประเทศสามารถดำเนินการตามนี้ได้ถูกกำหนดไว้ในแนวทางการปฏิบัติตามมาตรา 5.3 ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอแนะหลายประการที่ประเทศต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ ข้อเสนอแนะเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นจากหลักฐานและประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการรับมือกับการแทรกแซงจากอุตสาหกรรมยาสูบ
3. ยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับการแทรกแซงของอุตสาหกรรมบุหรี่
แม้มีหลายประเด็นที่ควรกล่าวถึง แต่สิ่งสำคัญ คือ เราต้องย้ำให้เห็นความจำเป็นในการลดความชอบธรรมของอุตสาหกรรมนี้ เพราะอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้เหมือนกับอุตสาหกรรมทั่วไป แต่กลับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้คน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจโดยรวมอย่างกว้างขวาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการหรือบังคับใช้แนวนโยบายเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในการมีปฏิสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมตามแนวทางของมาตรา 5.3 การให้ความสำคัญกับผลประโยชน์สาธารณะเหนือผลประโยชน์ของอุตสาหกรรม การจัดการประชุมเฉพาะเมื่อจำเป็นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านกฎระเบียบ และเมื่อมีการประชุม ควรมีความโปร่งใสเกี่ยวกับผู้เข้าร่วมประชุม วาระการประชุม และยืนยันว่าการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชากรเป็นเป้าหมายสูงสุด มีตัวอย่างที่ดีมากมายเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการเหล่านี้เพื่อลดผลประโยชน์ทับซ้อนและรับมือกับการแทรกแซงจากอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ได้นำ Dr.Adriana Blanco Marquizo, Mr.Andrew Black, ผู้ทรงคุณวุฒิจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ และสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย เข้าพบประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล เวลา 13:00 น. และประธาน สภาผู้แทนราษฎร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เวลา 14:00 น. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นการแทรกแซงนโยบายการควบคุมยาสูบ และมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก มีการแลกเปลี่ยน อภิปราย และเสนอแนะเพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะประเด็นการพิจารณาศึกษานโยบายและมาตรการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
ทั้งนี้ ฝ่ายสุขภาพจะมีการประสานงานขอให้มีพรรคการเมือง มีหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการพิจารณาออกกฎ ระเบียบของรัฐสภา ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรา 5.3 อนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ที่ไม่ให้มีการตั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ เข้าเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษา ในคณะกรรมาธิการที่รัฐสภาตั้งขึ้น เพื่อพิจารณา กำหนดข้อเสนอนโยบายควบคุมยาสูบ เพื่อป้องกันปัญหาที่เป็นอยู่ ที่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่ศึกษาและพิจารณากฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย
[1] https://epe.lac-bac.gc.ca/100/200/301/pwgsc-tpsgc/por-ef/health/2019/014-19-e/report.pdf
[1] https://publications.gc.ca/site/eng/9.892028/publication.html
[1] https://www.canada.ca/en/health-canada/news/2020/07/youth-vaping-prevention-public-education.html
[1] https://www.canada.ca/en/health-canada/services/smoking-tobacco/vaping.html
[1] https://www.cbc.ca/news/health/canada-teen-vaping-survey-e-cigarettes-1.6845408
[1] https://www.fda.gov/media/159412/download
[1] https://www.fda.gov/tobacco-products/real-cost-campaign/real-cost-cigarette-prevention-campaign
[1] https://www.fda.gov/tobacco-products/real-cost-campaign/real-cost-cost-effective-approach
[1] https://www.cdc.gov/tobacco/e-cigarettes/health-effects.html
[1] https://evidence.nejm.org/doi/full/10.1056/EVIDoa2300229